เรื่อง กรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ
ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประชุมภาคีพิธีสารเกียวโต
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติเสนอดังนี้
1. เห็นชอบกรอบการเจรจาของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 15 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโตสมัยที่ 5 (COP15/CMP15) ซึ่งรัฐสภาเห็นชอบแล้วเป็นกรอบการเจรจาสำหรับการประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 17 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารเกียวโตสมัยที่ 7 (COP17/CMP17) ไปพลางก่อน
2. เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาของประเทศไทยสำหรับการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการประชุมภาคีพิธีสารเกียวโตมาใช้เป็นกรอบการเจรจาหลักครั้งต่อ ๆ ไป และให้นำร่างกรอบการเจรจาดังกล่าวเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป
สาระสำคัญของร่างกรอบการเจรจา ประกอบด้วย
1. ยืนยันหลักการสำคัญ คือ หลักการของความเสมอภาค (Equity) ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่างโดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ (Common but Differentiated Responsibilities and Respective Capabilities) การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) การขจัดปัญหาความยากจน (Poverty Eradication) และหลักการภายใต้ข้อตกลงแคนคูนที่ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 16 และที่ประชุมภาคีพิธีสารเกียวโต ครั้งที่ 6)
2. ให้ประเทศที่พัฒนาแล้วสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในด้านการเงินและการลงทุน การเสริมสร้าง ถ่ายทอด และพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและการเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากร ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
3. เห็นควรสนับสนุนให้มีพันธกรณีต่อเนื่องสำหรับประเทศภายใต้พิธีสารเกียวโต รวมถึงสนับสนุนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยในการต่อหรือยืดอายุของพันธกรณีแรก
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554--จบ--