พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 30, 2011 16:25 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติ

ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 21 ในนามผู้แทนราชอาณาจักรไทย

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ โดยให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี (28 พ.ย. 53) [ เรื่อง มาตรการบริหารกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2552 — 2556) ] ตามความเห็นของสำนักงาน กพ. และให้กระทรวงยุติธรรมรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปดำเนินการด้วย ดังนี้

1. รับทราบเรื่องพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จะเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (CCPCJ) สมัยที่ 21 เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 — ธันวาคม 2555 อันเป็นการยกระดับการดำเนินการทูตพหุภาคีอย่างสร้างสรรค์และสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาล และเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

2. เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติให้กับพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศ มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงาน ก.พ. ไปร่วมกันพิจารณาถวายตำแหน่ง “เอกอัครราชทูต” ให้กับพระเจ้าหลานเธอฯ เป็นกรณีพิเศษโดยขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องที่อาจไม่เอื้อต่อกับการแต่งตั้ง ก่อนที่จะได้รับมอบหมายให้เสด็จไปประจำการที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้มีตำแหน่ง และเอกสิทธิ์ / ความคุ้มกันทางการทูตเทียบเท่าเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา พร้อมทั้งให้เร่งรัดการดำเนินการโดยด่วน

3. เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดสรรงบประมาณจากงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ในวงเงินที่เหมาะสมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ

(1) กระทรวงยุติธรรมเพื่อจัดตั้งสำนักงานชั่วคราวของกระทรวงยุติธรรมที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพื่อใช้เป็นสถานที่ทรงงานของพระเจ้าหลานเธอฯ และเป็นศูนย์ปฏิบัติการของทีมงานเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมที่จะเดินทางไปถวายงานพระเจ้าหลานเธอฯ ในประเด็นด้านสารัตถะ / ยุทธศาสตร์ / และเลขานุการในช่วงเวลาที่จำเป็นและเหมาะสม ตลอดห้วงสมัยประชุมเป็นเวลา 1 ปี

(2) กระทรวงการต่างประเทศสำหรับการสนับสนุนการเสด็จไปประจำการของพระเจ้าหลานเธอฯ ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย การเดินทางไปปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ (หากจำเป็น) รวมทั้งการอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของพระเจ้าหลานเธอฯ อย่างสมพระเกียรติ ตลอดห้วงสมัยประชุมเป็นเวลา 1 ปี

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า

1. กระทรวงยุติธรรมได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่า จะมีการประชุม Reconvened Session ของคณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Commission on Crime Prevention and Criminal Justice — CCPCJ) สมัยที่ 20 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 - 13 ธันวาคม 2554 ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยในการประชุมครั้งนี้ จะมีการเลือกตั้งตำแหน่งประธาน CCPCJ สมัยที่ 21 ซึ่งในสมัยการประชุมนี้จะเป็นโควต้ากลุ่มประเทศในแถบเอเชียที่จะเข้ารับตำแหน่งประธาน กระทรวงยุติธรรมพิจารณาเห็นว่าตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการดังกล่าว เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งในวงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จึงได้นำความขึ้นกราบทูลเชิญพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อทรงเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าดำรงตำแหน่งประธาน CCPCJ สมัยที่ 21 และพระเจ้าหลานเธอฯ ได้ทรงมีพระวินิจฉัยเห็นชอบและตอบรับที่จะเสด็จเยือนกรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพื่อเข้าร่วมประชุมและรับเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งดังกล่าว และกระทรวงยุติธรรมได้ประสานงานในเบื้องต้นไปยังกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ได้รับแจ้งว่า ที่ประชุมกลุ่มเอเชีย (Asian Group) ซึ่งมีประเทศไทยเป็นประธาน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับรอง (endorse) พระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นผู้สมัครของกลุ่มเอเชียเพื่อดำรงตำแหน่งประธาน CCPCJ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 โดยจะมีการรับรองตำแหน่งดังกล่าวอย่างเป็นทางการในการประชุม Reconvened 20th Session ของ CCPCJ ในวันที่ 13 ธันวาคม 2554

2. คณะกรรมาธิการแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Commission on Crime Prevention and Criminal Justice — CCPCJ) เป็นคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council — ECOSOC) ของสหประชาชาติ จัดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1992 มีการประชุมประจำปี (annual sessions) มาแล้ว 20 สมัย โดยสมัยประชุมที่ 21 จะมีขึ้นในห้วงระหว่างเดือนธันวาคม 2554 — เดือนธันวาคม 2555 (ระยะเวลา 1 ปี) CCPCJ เป็นกลไกกำหนดนโยบาย (Governing Body) ของสหประชาชาติในสาขาการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา และพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมเศรษฐกิจ การฟอกเงิน มาตรฐานระบบราชทัณฑ์ หลักนิติธรรม การใช้ความรุนแรง อาชญากรรมเยาวชน การป้องกันการก่อการร้าย การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ รวมทั้งจัดเตรียมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ซึ่งเป็นเวทีระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในการทบทวนแนวโน้มอาชญากรรมโลก และกำหนดทิศทาง/เจตนารมณ์ทางการเมืองในการแก้ไขปัญหา จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุก 5 ปี นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955

3. ประเทศไทย โดยกระทรวงยุติธรรมได้ให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติในกรอบ CCPCJ และสำนักงานสหประชาชาติว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม (United Nations Office on Drugs and Crime — UNODC) มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ไทยได้รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 11 (Eleventh United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice) ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2548 ซึ่งได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม คือ “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration: Synergy and Responses: Strategic Alliances in Crime Prevention and Criminal Justice)

4. เนื่องจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีความสนพระทัยในประเด็นกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอย่างลึกซึ้ง จึงได้ทรงมีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นดังกล่าวในกรอบสหประชาชาติ โดยในช่วงที่ทรงรับราชการอยู่ที่คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก (2548) พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงเป็นผู้แทนหลักของไทยในการเจรจาร่างข้อมติ (draft resolution) ของไทยเรื่อง “Follow-up to the Eleventh United Nations Congress on Crime Prevention and Criminal Justice” ในคณะกรรมการ 3 (Third Committee) ของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly) สมัยที่ 60 ส่งผลให้มีการรับรองข้อมติ GA ที่ 60/177 และปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นผลสำเร็จ จากนั้น ทรงเข้าร่วมการประชุม CCPCJ ที่กรุงเวียนนา 3 ครั้ง คือ สมัยที่ 15 (2549) / 17 (2551) และ 18 (2552) ส่งผลให้ผู้แทนไทยได้พัฒนาบทบาทด้านสารัตถะที่เข้มแข็งมากขึ้นและเสนอร่างข้อมติในประเด็นต่างๆ ในเวทีนี้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินโครงการ Enhancing Lives of Female Inmates (ELFI) ในพระดำริฯ เพื่อผลักดันข้อเสนอของไทยเรื่องข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศผลักดันให้ที่ประชุม GA รับรอง ข้อมติที่ 65/229 และ “United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders” หรือ“Bangkok Rules” เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี 2553 ทั้งนี้ รายชื่อข้อมติของไทยที่เสนอผ่านเวที CCPCJ ในช่วงที่ผ่านมา

5. การเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการป้องกันอาชญากรรม สมัยที่ 21 เป็นการถวายพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพ และเป็นผู้นำทางความคิดด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในเวทีระหว่างประเทศ ดังที่ เคยได้รับการถวายเหรียญเกียรติยศ (Medal of Recognition) จาก UNODC เมื่อปี 2552 อีกทั้ง ตำแหน่งประธาน CCPCJ จะช่วยยกระดับการยอมรับของประชาคมระหว่างประเทศ และมีนัยและความเชื่อมโยงกับประเด็นด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยจึงสามารถอาศัยเวที CCPCJ ในการสร้าง track record ของการดำเนินนโยบายการทูตพหุภาคีเชิงรุก ในด้านอื่นๆ ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ