ผลการประชุมรัฐมนตรีคมนาคม เอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2011 14:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีคมนาคม เอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 2 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอดังนี้

ตามที่คณะผู้แทนไทย โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะ ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีคมนาคม เอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-27 ตุลาคม 2553 ณ เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน นั้น กระทรวงคมนาคมขอเรียนสรุปผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

1. ผู้เข้าร่วมประชุม

นายหลี่ เซิ่งหลิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งจีน และ นาย Elgijus Masiulis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐลิทัวเนีย ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วม โดยมีรัฐมนตรีหรือผู้แทนกระทรวงคมนาคมประเทศสมาชิกอาเซม 35 ประเทศ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ 6 องค์กร เข้าร่วมการประชุม

2. พิธีเปิดการประชุม

นายจาง เต๋อเจียง รองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวคำกล่าว นายหลี่ เซิ่งหลิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งจีน กล่าวต้อนรับ และ นาย Elgijus Masiulis รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสาธารณรัฐลิทัวเนีย กล่าวเปิดการประชุม โดยนาย Masiulis ได้ระบุว่า การประชุมรัฐมนตรีคมนาคม เอเชีย-ยุโรป เป็นเวทีในการเสริมสร้างเครือข่ายการคมนาคมระหว่างเอเชียกับยุโรป เพื่อให้ผู้แทนระดับสูงได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการคมนาคม เพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้า การลงทุน และการเดินทางระหว่างสองภูมิภาค โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่สอง มีหัวข้อหลักในการประชุม คือ การเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรปที่มีประสิทธิภาพ มั่นคง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

3. การกล่าวคำกล่าว (Keynote Speech)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประเทศต่าง ๆ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศรวมทั้งหมด 31 ท่าน กล่าวคำกล่าว โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก) ได้ร่วมกล่าวคำกล่าวด้วย มีเนื้อหาโดยสรุป ความว่า ประเทศไทยมีการกำหนดวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาการขนส่งแบบยั่งยืน พ.ศ. 2555-2563 ขึ้น ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงคมนาคมได้กำหนดนโยบายเพื่อรองรับวิสัยทัศน์ดังกล่าว ดังนี้

3.1 นโยบายการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาภาวะโลกร้อน และผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจก จีนส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก เช่น ก๊าซธรรมชาติ เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติตามพันธกรณีของพิธีสารด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เช่น พิธีสารเกียวโต อีกด้วย

3.2 นโยบายการขนส่งที่ปลอดภัย จากการที่สหประชาชาติได้จัดตั้งโครงการทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนนขององค์การสหประชาชาติ พ.ศ. 2554-2563 ประเทศไทยจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อรองรับโครงการดังกล่าว เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน และ การลดจำนวนอุบัติเหตุในพื้นที่เสี่ยง

3.3 นโยบายการขนส่งที่มั่นคง ประเทศไทยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ และได้ส่งเรือรบจำนวน 2 ลำเข้าร่วมปฏิบัติการกับกองกำลังนานาชาติ (CTF/CMF) จากกรณีปัญหาการกระทำอันเป็นโจรสลัดในโซมาเลีย ประเทศไทยเห็นควรเสนอให้ประเทศสมาชิก ASEM แลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ในการป้องกันเรือสินค้าที่เดินเรือผ่านเส้นทางดังกล่าวให้พ้นภัยโจรสลัด

3.4 นโยบายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการพัฒนารถไฟรางคู่ และโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่

สำหรับคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประเทศต่าง ๆ และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศนั้น ในภาพรวม ต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ทุกประเทศเล็งเห็นความสำคัญของระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ มั่งคง ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาระบบการขนส่งดังกล่าว เช่น

สหพันธรัฐรัสเซีย มีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งระหว่างเอเชีย-ยุโรป ส่งเสริมการแข่งขันในภาคธุรกิจการขนส่ง เพิ่มระดับความมั่นคงและความปลอดภัยในการขนส่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงได้กำหนดนโยบายหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การพัฒนาระบบนำทางและหาตำแหน่ง GLONASS เพื่อใช้ในภาคการขนส่ง การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ทั้งการขนส่งทางราง และการขนส่งทางเรือภายในประเทศ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงและปลอดภัยในการขนส่ง การพัฒนาเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงกฎหมาย/มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการขนส่ง

สาธารณรัฐประชาชนจีน เนื่องจากการขนส่งถือเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงให้ความสำคัญกับภาคการขนส่งเป็นลำดับต้น ๆ โดยภายในปี พ.ศ. 2558 สาธารณรัฐประชาชนจีนมีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้วางนโยบายเพื่อรองรับเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่ การสนับสนุนการรีไซเคิล การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ การบูรณาการระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย การสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า และการเข้าร่วมในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ญี่ปุ่น จากเหตุการณ์สึนามิเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ทำให้ประเทศญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของการลดความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติ และการฟื้นฟูระบบการขนส่งหลังภัยพิบัติ โดยได้เสนอแนะประเทศสมาชิก ASEM ว่า ประเทศต่าง ๆ ควรมีระบบการขนส่งหลายเส้นทาง และหลายรูปแบบ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เส้นทางการขนส่งบางเส้นทางถูกตัดขาด และควรแบ่งการฟื้นฟูระบบการขนส่งออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบการขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) อุปสรรคที่ไม่ใช่ด้านกายภาพ ส่งผลกระทบต่อการขนส่งในปัจจุบันหลายประการ เช่น ทำให้การขนส่งล่าช้า มีราคาสูง และไม่แน่นอน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่ง เช่น จัดทำกรอบความตกลงระดับภูมิภาคด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศ (Regional Strategic Framework on Facilitation of International Road Transport)

4. การอภิปราย (Panel Session)

แบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ ระบบการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระบบการขนส่งที่มั่นคงและปลอดภัย และ ระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยในแต่ละหัวข้อมีรายละเอียด ดังนี้

4.1 ระบบการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากภาครัฐ นำเสนอนโยบายและมาตรการพัฒนาการขนส่งเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน มีนโยบายส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน เพื่อช่วยลดปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสาธารณรัฐอินเดีย ใช้ระบบจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Traffic System : ITS) เพื่อช่วยในการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม นำเสนอเทคโนโลยีการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มบริษัท BYD เสนอผลิตภัณฑ์รถแท็กซี่ไฟฟ้า และรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีราคาต่ออายุการใช้งานที่คุ้มค่ากว่ายานพาหนะที่ใช้น้ำมันทั่วไป

4.2 ระบบการขนส่งที่มั่นคงและปลอดภัย ตัวแทนจากภาครัฐ นำเสนอนโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยในการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เช่น สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มี 5 เสาหลักเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ได้แก่ การจัดการความปลอดภัยบนท้องถนน การสร้างถนนที่มีโครงสร้างตามหลักวิศวกรรมความปลอดภัย การรณรงค์ให้ประชาชนใช้ยานพาหนะที่มีความปลอดภัย การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนแก่ประชาชน และการรับมือกับอุบัติเหตุอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม นำเสนอแนวทางเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นคงและปลอดภัยในการขนส่ง เช่น บริษัท Ericsson ได้ทำการวิจัยร่วมกับบริษัทรถยนต์ชั้นนำ เช่น Ford, BMW และ Daimler เพื่อสร้างระบบแจ้งเตือนเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

4.3 ระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ตัวแทนจากภาครัฐ นำเสนอแนวทางส่งเสริมการขนส่งระหว่างเอเชีย-ยุโรป ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมการขนส่งทางราง ทางถนน ทางเรือ และทางอากาศ เช่น สาธารณรัฐลิทัวเนีย ได้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ทั้งทางถนน ท่าเรือปลอดน้ำแข็ง และรถไฟ เพื่อยกระดับให้ลิทัวเนียกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างภูมิภาคยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก และทวีปเอเชีย ส่วนตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม นำเสนอเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บริษัท DB ใช้หลัก Supply Chain Management ในการจัดการขนส่งสินค้า เช่น เลือกรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสม และคำนวณหาเส้นทางที่สั้นที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่าย

5. พิธีปิดการประชุม

รัฐมนตรีคมนาคมเอเชีย-ยุโรป 35 ประเทศ ได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและผู้โดยสารระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรป และ ปฏิญญารัฐมนตรีคมนาคม เอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 2 ว่าด้วยการเชื่อมโยงเอเชีย-ยุโรป ที่มีประสิทธิภาพมั่นคง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ปฏิญญาเฉิงตู ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการจัดทำร่างปฏิญญาฯ และอนุมัติในหลักการให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือ ผู้แทนให้การรับรองเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของร่างปฏิญญาแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ