ท่าทีไทยสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 8

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2011 14:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบท่าทีไทยในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) สมัยสามัญ ครั้งที่ 8 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ผู้แทนไทยพิจารณาใช้ดุลพินิจตามสถานการณ์ ตามความเหมาะสมในเรื่องอื่นใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. การประชุมรัฐมนตรี (Ministerial Conference : MC) ของ WTO เป็นกลไกการดำเนินงานและการตัดสินใจของ WTO ในระดับสูงสุด มีวาระการประชุมอย่างน้อย 1 ครั้ง ในรอบ 2 ปี ทำหน้าที่ในการตัดสินใจและกำหนดทิศทางเกี่ยวกับกิจกรรมทั้งปวงของ WTO ซึ่งในการประชุมรัฐมนตรีฯ ครั้งที่ 8 จะมีการหารือในประเด็นสำคัญหลายประเด็น ซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตของระบบการค้าพหุภาคีของโลกต่อไป และ นรม. มีบัญชาอนุมัติให้รอง นรม. และ รมต. พณ. (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม

2. การเจรจา WTO รอบโดฮา ถือกำเนิดจากการประชุมรัฐมนตรี WTO ในปี พ.ศ. 2554 ณ เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ โดยถือว่าการเจรจารอบนี้เป็นรอบแห่งการพัฒนา (Development Round) คือมีวัตถุประสงค์ที่จะลดเลิกมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคทางการค้าของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา การเจรจามีกำหนดระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2544-2548) อย่างไรก็ดี ในปี 2548 สมาชิก WTO ไม่สามารถบรรลุผลการเจรจาตามที่ตกลงไว้ ส่งผลให้การประชุมรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ครั้งที่ 6 ที่ฮ่องกง เดือนธันวาคม 2548 ต้องต่อระยะเวลาการเจรจาออกไปจนถึงสิ้นปี 2549 และนับตั้งแต่ปีนั้นมาจวบจนปัจจุบัน สมาชิก WTO ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงจากหลาย ๆ ประเด็น โดยเฉพาะประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงผลการเจรจาทั้ง 2 ประเด็น เข้ากับเรื่องการค้าบริการ ส่งผลให้การเจรจารอบโดฮาใช้เวลาในการเจรจายืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 10 ปีแล้ว

3. การเจรจาการค้ารอบโดฮา ครอบคลุมประเด็นเจรจา 8 เรื่องสำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม บริการ การค้าและสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางการค้า การปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาท และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติตามพันธกรณีรอบอุรุกวัย ทั้งนี้ สมาชิกมุ่งเน้นเจรจาและแก้ปัญหาความขัดแย้ง ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การเจรจาสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าการประมง และการค้าบริการ

4. สมาชิกที่มีบทบาทสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และแคนาดา ได้ส่งสัญญาณยอมรับว่า การเจรจารอบโดฮานั้นไม่ประสบผลสำเร็จ และอาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะให้มีรูปแบบการเจรจาใหม่ เพื่อผลักดันการเจรจาต่อไป และควรพิจารณาบทบาทของ WTO ที่จะสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวว่าควรเป็นเช่นใด

5. ในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 8 นี้ คาดว่าจะมีการพิจารณาเรื่องสำคัญ ๆ ดังนี้

5.1 เรื่องต่อเนื่องจากการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 7 คือการขยายเวลาการยกเว้นการเก็บอากรศุลกากรชั่วคราวสำหรับการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Custom Duties Moratorium on Electronic Transmissions) และการขยายเวลาการยกเว้นการฟ้องกรณีพิพาทเกี่ยวกับความตกลง TRIPS ภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO หากไม่ได้ทำผิดพันธกรณีภายใต้ความตกลงดังกล่าว (TRIPS non-violation complaint) ซึ่งคณะรัฐมนตรีใหญ่ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 เห็นชอบให้เสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ 8 ให้ขยายเวลาการยกเว้นทั้งสองดังกล่าว ออกไปจนถึงการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ 9 ในปี 2556

5.2 การหาข้อสรุปเกี่ยวกับการเจรจารอบโดฮา ยังไม่สามารถสรุปการเจรจาได้ หลังจากที่เจรจามาเป็นเวลา 10 ปี

5.3 การพัฒนาระบบการดำเนินการภายในองค์การการค้าโลก เช่น ระบบการทบทวนนโยบายการค้า การผลักดันการดำเนินงานตามแผนงานพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

5.4 การให้ความยืดหยุ่นและความช่วยเหลือแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เช่น การให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Aid for Trade) การผ่อนปรนในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของ WTO การขยายระยะเวลาที่จะไม่บังคับใช้ความตกลง TRIPS การยกเลิกภาษีนำเข้าและโควตาให้กับประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และการยกเว้นจากหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation Treatment : MFN) ในกรณีที่ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในด้านการค้าบริการ เป็นต้น

5.5 เรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์ในเศรษฐกิจโลก เช่น การต่อต้านการกีดกันทางการค้า ความมั่นคงทางอาหาร และความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างการค้ากับอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ