แผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 กระทรวงคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 14, 2011 15:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบแผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 กระทรวงคมนาคม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

กระทรวงคมนาคม รายงานว่า ได้จัดทำ “แผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555” ขึ้น เพื่อเตรียมการรองรับการเดินทางของประชาชน โดยการจัดทำแผนดังกล่าวได้คำนึงถึงสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากการเกิดมหา อุทกภัยที่ร้ายแรงครอบคลุมไปยังจังหวัดต่างๆ จำนวนมาก ทำให้โครงข่ายคมนาคมทั้งทางรถไฟ ถนน เสียหายไม่สามารถเดินทางได้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสภาพบ้านเรือน ทรัพย์สิน รถยนต์ส่วนตัวที่เสียหาย และความเครียดจากสภาพน้ำท่วมเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งกระทรวงคมนาคมคาดว่า ประชาชนจะเปลี่ยนแปลงลักษณะการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ และมีความคาดหวังที่จะได้รับจากรัฐบาล ในการอำนวยความสะดวกเพื่อการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งได้คำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 ที่ให้ลดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากอุบัติเหตุการจราจรให้น้อยที่สุด และให้สอดคล้องกับปฏิญญามอสโคว์ ซึ่งสหประชาชาติประกาศ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของแผนดังกล่าวต้องการให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวอย่างมี “ความสุข สะดวก และปลอดภัย” ด้วยการดูแลอำนวยความสะดวกในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะประเภทต่าง ๆ รวมทั้งซ่อมแซมถนนเส้นทางหลักและเส้นทางเลี่ยงให้ใช้การได้อย่างดี ตลอดจนประชาสัมพันธ์แนะนำเส้นทางอย่างชัดเจนและง่ายต่อความเข้าใจของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถทราบข้อมูลได้ล่วงหน้าสำหรับเตรียม วางแผนการเดินทาง โดยกำหนดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนดังกล่าว ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2554-4 มกราคม 2555 มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัย การประสานงานการรายงานผลการปฏิบัติและการติดตามประเมินผล ดังนี้

1. วัตถุประสงค์

1.1 จัดให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนอย่างเพียงพอ ทั้งด้านระบบขนส่งสาธารณะและระบบโครงข่าย รวมทั้งจัดเตรียมมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาโดยทันทีและเร่งด่วน

1.2 ป้องกันและลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการเดินทางในช่วงเทศกาล

1.3 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบและมีความปลอดภัยสูงสุด

1.4 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ

2. เป้าหมาย

2.1 จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเดินทางของประชาชนในเส้นทางความรับผิดชอบลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และจะต้องไม่มีผู้โดยสารในระบบขนส่งสาธารณะเสียชีวิตจากการเดินทางในช่วงเทศกาล

2.2 จัดอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในการเดินทางทั้งไปและกลับ รวมทั้งจัดเตรียมและบริหารจัดการด้านยานพาหนะและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับโดยเฉพาะเส้นทางที่เกิดจากอุทกภัยอย่างเพียงพอ (ไม่ล่าช้าและไม่มีผู้โดยสารตกค้าง)

2.3 ผู้ประจำรถโดยสารสาธารณะ (ผู้ขับรถ พนักงานประจำรถ นายตรวจ และผู้ให้บริการประจำรถ) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นศูนย์มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในระหว่างการให้บริการเป็นจำนวนร้อยละ 100

2.4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานอื่นๆ บูรณาการการปฏิบัติงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำกฎหมายที่มีอยู่มาใช้บังคับอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุจากการเดินทางของประชาชน

3. แผนอำนวยความสะดวกและปลอดภัยฯ ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2554 - 4 มกราคม 2555

3.1 แผนให้บริการและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

3.1.1 บริการการขนส่งสาธารณะ

  • หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดเตรียมพื้นที่สถานีขนส่ง ชานชาลา และพื้นที่ จอดรถสำรองให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชน รวมทั้งจัดเตรียมและเพิ่มจำนวนรถโดยสารประจำทาง/ ไม่ประจำทางเพิ่มจำนวนตู้โดยสารรถไฟและเที่ยววิ่ง เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทาง ดังนี้

1) บริษัท ขนส่ง จำกัด เพิ่มจำนวนเที่ยวรถขาไป-ขากลับ ดังนี้

          ลำดับ  รายละเอียด           28 - 31 ธ.ค. 2554 (ขาไป)    1 - 4 ม.ค. 2555 (ขากลับ)
          1     จำนวนเที่ยว (เที่ยว)            19,593                      20,079
          2     จำนวนผู้โดยสาร (คน)          486,559                     484,254

2) การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดขบวนรถและเพิ่มตู้โดยสาร ดังนี้

  • จัดขบวนรับผู้โดยสารประจำ 276 ขบวน/วัน รองรับผู้โดยสาร ได้ประมาณ 98,000 คน/วัน
  • เพิ่มตู้โดยสารขบวนรถด่วนเร็วประมาณ 1 - 2 ตู้ รองรับผู้โดยสาร ได้ประมาณ 10,000 คน/วัน
  • เพิ่มขบวนรถไฟพิเศษในเส้นทางสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เที่ยวไป วันที่ 30-31 ธันวาคม 2554 จำนวน 8 ขบวน และเที่ยวกลับ วันที่ 3 - 4 มกราคม 2555 จำนวน 12 ขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 118,000 คน/วัน

3) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพิ่มจำนวนเที่ยววิ่งรถโดยสารประจำทาง ดังนี้

  • เพิ่มรถกะบ่าย/รถกะเช้า (ไม่รวมรถเอกชนร่วมบริการ) เพื่อรับส่งผู้โดยสารตามสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ
  • จัดรถ Shuttle Bus เฉพาะกิจ 2 เส้นทางจากอู่กำแพงเพชร 2 ไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต
  • จัดรถโดยสารประจำทางให้เพียงพอต่อการเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เดินทางออกต่างจังหวัด

4) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพิ่มเที่ยวบินเสริมพิเศษ ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต และกรุงเทพฯ-กระบี่ (ไป-กลับ) ระหว่างวันที่ 30 - 31 ธันวาคม 2554 และวันที่ 2 - 3 มกราคม 2555

5) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพิ่มความถี่ในการให้บริการและจัดขบวนรถเพิ่ม ในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2554 - 1 มกราคม 2555

6) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เพิ่มความถี่ในการให้บริการและขยายเวลาให้บริการ ในระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2554 โดยออกจากต้นทาง (สุวรรณภูมิและพญาไท) และให้บริการเที่ยวสุดท้ายเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2555

3.1.2 การอำนวยความสะดวกด้านโครงข่ายถนน

  • หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม มีแผนงานการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยด้านการจราจร ในช่วงก่อนเทศกาล ระหว่างเทศกาล และหลังเทศกาล ดังนี้

1) มาตรการก่อนเทศกาล

  • กรมทางหลวง อำนวยความสะดวก ดังนี้
  • เร่งรัดการกู้ ซ่อมแซม และฟื้นฟูเส้นทางจราจรที่ประสบอุทกภัย และกำจัดสิ่งกีดขวางออกจากเส้นทางจราจร
  • กำหนดเส้นทางหลักในการเดินทางและเส้นทางเลี่ยง ซึ่งเน้นการเดินทางไปยังภาคภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ประชาสัมพันธ์แนะนำเส้นทาง/ ทางเลี่ยงผ่านสื่อต่างๆ พร้อมทั้งติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางลัด
  • กรมทางหลวงชนบท อำนวยความสะดวก ดังนี้
  • ปรับปรุงถนนให้สะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะการเตือนในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
  • ปรับปรุงถนน/ สะพานบริเวณที่ก่อสร้างให้เปิดบริการชั่วคราวได้

2) มาตรการระหว่างเทศกาล

  • กรมทางหลวง อำนวยความสะดวกการจราจร ดังนี้
  • ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และ 9 ช่วงเทศกาล
  • ประสานและสนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการจราจร/จัดช่องทางพิเศษ
  • คืนผิวจราจรของงานก่อสร้าง/ บำรุงทาง ช่วงเทศกาล เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว
  • จัดตั้งศูนย์ประสานงานและจุดให้บริการ สำหรับบริหารจัดการมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ บริการตามความเหมาะสม ณ ศูนย์บัญชาการกรมทางหลวง สำนักบริหารบำรุงทาง จำนวน 1 แห่ง ศูนย์อำนวยการสำนักทางหลวง/ สำนักงานทางหลวง จำนวน 18 แห่ง และศูนย์ปฏิบัติการแขวงฯ จำนวน 105 แห่ง
  • กรมทางหลวงชนบท อำนวยความสะดวกการจราจร ดังนี้
  • คืนผิวจราจรของงานก่อสร้าง/ บำรุงทาง ช่วงเทศกาล เพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว
  • จัดตั้งศูนย์ประสานทางหลวงชนบทจังหวัด จำนวน 76 ศูนย์ เพื่อสนับสนุน/ กำกับ/ ช่วยเหลือและประสานงาน ระดับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • จัดตั้งหน่วยบริการประชาชนและปรับเปลี่ยนเส้นทางให้เหมาะสมกับช่วงเวลาการเดินทาง
  • จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อบริการประชาชนผู้ใช้เส้นทางในสายทางสำคัญเฝ้าระวังตรวจตราสายทางที่มีปริมาณจราจรสูงและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย อำนวยความสะดวกการจราจร ดังนี้
  • จัดเพิ่มกำลังพนักงานจัดการจราจรเสริมการปฏิบัติอำนวยการจราจรในเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการใช้เดินทางออกนอกเมืองและเข้าเมือง
  • จัดเตรียมความพร้อมของช่องเก็บเงินค่าผ่านทางโดยเฉพาะด่านเข้า/ออกเมือง เพื่อให้สามารถเปิดใช้ได้ทุกช่องทางและจัดพนักงานเก็บเงินค่าผ่านทางให้เพียงพอกับช่องเก็บเงินค่าผ่านทาง

3) มาตรการหลังเทศกาล

  • ติดตาม รายงาน ประเมินผล และวิเคราะห์จุดเสี่ยง/ จุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม โดยให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน

3.1.3 การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าเรือ/ สถานีขนส่ง/ ท่าอากาศยานและอาคารผู้โดยสาร /สถานีรถไฟ

  • กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมการบินพลเรือน การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดเตรียมพื้นที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ให้มีความพร้อมรองรับปริมาณการใช้บริการของประชาชน

3.1.4 อำนวยความสะดวกในด้านข้อมูลการจราจร

  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมให้บริการระบบการรายงานสภาพจราจรและบริหารจัดการอุบัติเหตุด้านการขนส่ง (TRAMS) แก่หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และอำนวยความสะดวกในการจัดทำรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุประจำวัน ทั้งในภาพรวมของกระทรวงคมนาคม ระดับกรม และระดับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค
  • ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้บริการรายงานสภาพจราจรแบบ Real Time โดยมีการเชื่อมต่อข้อมูลด้านการจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (ITS) ที่กระจายอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกกระทรวงคมนาคมเข้ากับข้อมูลของ สนข. แล้วมาประมวลผลเป็นข้อมูลสภาพจราจรแบบ Real Time สามารถเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ซึ่งเผยแพร่ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต www.itsotp.net และระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ m.itsotp.net เพื่อให้ประชาชนสามารถรับข้อมูลการให้บริการขนส่งสาธารณะและข้อมูลสภาพการจราจรแบบ Real Time สำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทางและการเลือกเส้นทางการเดินทางของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมในช่วงเวลานั้นๆ รวมทั้งทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่กำลังกีดขวางการจราจรได้

3.2 แผนงานด้านความปลอดภัย

3.2.1 มาตรการผู้ขับขี่/ ผู้โดยสารปลอดภัย

  • กรมเจ้าท่า
  • จัดเตรียมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เรือตรวจการณ์และเรือช่วยชีวิต เพื่อปฏิบัติงานตรวจตรา ควบคุมดูแลเกี่ยวกับการให้และการใช้บริการตามท่าเทียบเรือ
  • กรมการขนส่งทางบก
  • ซักซ้อมทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการขนส่งให้เตรียมความพร้อมของรถและพนักงานขับรถ
  • ตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถด้านความพร้อมทางร่างกาย (ความอ่อนเพลีย) ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ตามมาตรการแอลกอฮอล์ต้องเป็นศูนย์ และตรวจสอบระยะเวลาในการขับรถ ณ จุดตรวจบนถนนสายหลัก สายรอง และสถานีขนส่งผู้โดยสาร
  • กวดขันการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถ ให้มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  • จัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ณ กรมการขนส่งทางบก สถานีขนส่งผู้โดยสาร และสำนักงานขนส่งจังหวัด โดยรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะและให้บริการข้อมูลด้านการขนส่งทางบก ผ่านสายด่วนหมายเลข 1584 เพื่อป้องกันมิให้ผู้โดยสารถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนช่วยเหลือให้ผู้โดยสารเดินทางถึงที่หมายอย่างปลอดภัย
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย
  • กวดขันพนักงานด้านการเดินรถให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับ พร้อมทั้งเพิ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟประจำสถานี/ขบวน
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ
  • พนักงานขับรถตรวจสอบความพร้อมของรถ รวมทั้งอุปกรณ์และส่วนควบ ได้แก่ ประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติ เบรก ครัทช์ เป็นต้น ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เป็นปกติ
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด
  • จัดเจ้าหน้าที่ตรวจความพร้อมในการปฎิบัติหน้าที่ของพนักงานขับรถ ตลอดจนอัตราการบรรทุกผู้โดยสารก่อนปล่อยรถออกทุกคัน

3.2.2 มาตรการยานพาหนะปลอดภัย

  • กรมเจ้าท่า
  • จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจเจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือเพื่อตรวจสภาพความพร้อมของตัวเรือและเครื่องจักรเรือว่ามีความเหมาะสมกับสภาพที่จะใช้งานและเหมาะสมของตัวเรือ
  • กรมการขนส่งทางบก
  • เพิ่มมาตรการตรวจความพร้อมของรถโดยสารที่จะให้บริการประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดกิจกรรม“ตรวจรถก่อนใช้ ปลอดภัยแน่นอน” ก่อนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 ระหว่างวันที่ 8 - 28 ธันวาคม 2554 และในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2554 - 4 มกราคม 2555
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด
  • จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพรถโดยสารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

3.2.3 มาตรการถนนปลอดภัย

  • กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท
  • ตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง ถนน และสะพานในความรับผิดชอบให้มีความปลอดภัยและพร้อมสำหรับการรองรับปริมาณการเดินทางของประชาชน ทั้งในเรื่องของผิวการจราจร สัญญาณไฟ ป้ายและเครื่องหมายจราจร รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมในพื้นที่รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง

3.2.4 มาตรการบังคับใช้กฎหมาย

  • กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
  • ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งจุดตรวจ/ จุดบริการ โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันเพื่อตรวจความพร้อม ตรวจสอบระยะเวลาในการขับรถ ตรวจจับความเร็ว ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และวินัยการขับขี่ของผู้ขับขี่บนทางหลวงสายหลักและสายรอง

4. การประสานงาน

ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม (ศปภ.คค.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานภารกิจด้านความปลอดภัยในระบบขนส่งระหว่างหน่วยงานในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงคมนาคม เช่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นต้น และเป็นผู้ประสานการให้บริการอำนวยความสะดวก บรรเทาและแก้ไขปัญหาการเดินทางแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วนหมายเลข 1356

5. การรายงานผลการปฏิบัติและการประเมินผล

5.1 ช่วงเทศกาล

1) ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการให้บริการขนส่งสาธารณะ (การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)) รายงานสถิติจำนวนผู้โดยสาร และจำนวนเที่ยวการให้บริการทั้งขาเข้าและขาออกในแต่ละวัน มายัง ศปภ.คค. ภายในเวลา 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

2) กรมการขนส่งทางบกและองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ รายงานสถิติอุบัติเหตุ รถโดยสารสาธารณะ/รถประจำทาง ให้ ศปภ.คค. ทราบ เป็นประจำทุกวันตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ เพื่อจัดทำรายงานสรุปนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีต่อไป

3) กรมเจ้าท่า รายงานข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำเป็นประจำทุกวันให้ ศปภ. คค. รวมทั้งสถิติการให้บริการประชาชนในการเดินทางทางน้ำ เช่น จำนวนประชาชนผู้ใช้บริการ จำนวนเรือขนส่งสาธารณะที่ให้บริการ โป๊ะเทียบเรือ ท่าเทียบเรือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นต้น ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

4) กรมการบินพลเรือน ดำเนินการให้ศูนย์ประสานงานการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย ส่วนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือประสบภัย สำนักมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินอากาศ รวบรวมรายงานจากท่าอากาศยานต่างๆ แล้วรายงานเหตุการณ์ให้อธิบดีกรมการบินพลเรือนและ ศปภ. คค. ทราบทุกวัน ตลอดช่วงระยะเวลาปฏิบัติงานตามแผนอำนวยความสะดวกฯ

5.2 ช่วงหลังเทศกาล

ภายหลังเสร็จสิ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมจัดส่งข้อมูลผลการปฏิบัติงานของมาตรการ/ กิจกรรม/ โครงการ พร้อมคำแนะนำและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อประมวลสรุปผลการดำเนินการและประเมินผลในภาพรวมของกระทรวงคมนาคมและนำเสนอแนวทางในการดำเนินการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ