สรุปประเด็นผลการประชุม “World Economic Forum Annual Meeting of the New Champion in Asia 2011 (Summer Davos)”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 20, 2011 12:15 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปประเด็นผลการประชุม “World Economic Forum Annual Meeting of the New Champion in Asia 2011

(Summer Davos) ” ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปประเด็นผลการประชุม“World Economic Forum Annual Meeting of the New Champion in Asia 2011 (Summer Davos) ” ณ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า

1. การประชุมประจำปี เรื่อง “the New Champion in Asia 2011” (2554) จัดโดยเวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน 2554 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สมาชิก WEF และผู้นำทางธุรกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจาก 80 ประเทศ โดยสรุปดังนี้

1.1 หัวข้อหลักของการประชุม คือ “Mastering Quality Growth” สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างจีนและผู้นำทางเศรษฐกิจโลกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ให้มีเสถียรภาพและสนับสนุนการเติบโตอย่างมีคุณภาพ

1.2 ประเด็นสำคัญของการประชุม

1.2.1 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโลก: พบว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ในขณะที่การส่งออกจากทวีปเอเชียยังคงสูงกว่าทุกทวีป นอกจากนี้ประชากรโลกจะสูงถึง 9.3 พันล้านบาท ในปี 2050 ส่วนใหญ่อยู่ในจีน อินเดีย และแอฟริกา และชนชั้นกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

1.2.2 ความสำเร็จของการพัฒนาแบบยั่งยืนจะเป็นชัยชนะในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันรูปแบบใหม่ (New Sustainability Champion) : WEF ร่วมกับ Boston Consulting Group (BCG) ได้ศึกษาวิธีปฏิบัติขององค์กรหรือบริษัทในประเทศตลาดเกิดใหม่ เพื่อหาแนวทางปฏิบัติรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน

1.2.3 การสร้างนวัตกรรมโดยคำนึงถึงข้อจำกัดของทรัพยากร (Insights from Emerging Markets : Frugal Innovation) : แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะทำให้หลายประเทศต้องชะลอหรือยกเลิกโครงการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม แต่ประเทศในทวีปเอเชีย มีการลงทุนด้านนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความเข้มข้นของการลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงกว่าอเมริกา

1.2.4 ประโยชน์ของการศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม : นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามสร้างกล้องโทรทรรศน์ (Telescopes) และแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาจักรวาลศึกษาอะตอม และมีการประยุกต์ใช้จริงในเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ วัสดุตัวนำยิ่งยวด (Super conductors) และอื่น ๆ

1.2.5 การจัดตั้งชุมชนประชากรที่มีอายุระหว่าง 20-30 ปี ให้มีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการหรือเวทีในการกำหนดทิศทางการพัฒนา (Global Shapers Community) : เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนมีบทบาทในการกำหนดอนาคตทิศทางและประเด็นท้าทายของโลก และเพื่อพัฒนาภาวะผู้นำเยาวชนเพื่อรับใช้สังคม

1.2.6 ภาวะผู้นำจะเป็นปัจจัยที่สำคัญของการบริหารจัดการองค์กรให้สำเร็จในอนาคตภายใต้สถานการณ์ที่มีความผันผวนสูง : โดยมีปัจจัยแห่งความสำเร็จ คือ ความสามารถในการใช้คนเท่าเดิมแต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และการสร้างนวัตกรรมใหม่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ