การปรับระบบบริหารงานบุคคลข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 17:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ .. พ.ศ. ....) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และเห็นชอบในหลักการให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณเพื่อรองรับการกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินประจำตำแหน่งตามระบบบริหารงานบุคคลใหม่ให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นจำนวนเงิน 940,000 บาท

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาอาจได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนดในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารตามที่กำหนดให้ได้รับตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2538 (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้ตำแหน่งศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ได้รับเงินประจำตำแหน่งวิชาการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ก.พ.อ. กำหนด (ร่างมาตรา 5)

3. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทวิชาการชีพเฉพาะ (วช.) เฉพาะตำแหน่งที่กำหนด (ร่างมาตรา 6)

4. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ (ชช.) เฉพาะบุคคลที่ปฏิบัติงานโดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 7)

5. กำหนดให้ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานอธิการบดี ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขต ผู้อำนวยการกอง หรือหัวหน้าหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่ากองตามที่ ก.พ.อ. กำหนด ได้รับเงินประจำตำแหน่งผู้บริหาร (ร่างมาตรา 8)

6. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ซึ่งเดิมดำรงตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือนสามัญ และได้รับสิทธิประโยชน์ของตำแหน่งดังกล่าว ได้รับเงินประจำตำแหน่งตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 10)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ธันวาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ