ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ปรับปรุงน้ำหนักของรถที่ใช้ในการประกอบการขนส่งส่วนบุคคล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 13:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ปรับปรุงน้ำหนักของรถที่ใช้ในการประกอบการขนส่ง

ส่วนบุคคล) และร่างพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดน้ำหนัก

รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล) จำนวน 2 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ปรับปรุงน้ำหนักของรถที่ใช้ในการประกอบการขนส่งส่วนบุคคล) และร่างพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล) จำนวน 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 กำหนดบทนิยาม “การขนส่งส่วนบุคคล” หมายความว่า การขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเองด้วยรถที่มีน้ำหนักเกินสองพันสองร้อยกิโลกรัม (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4 (5))

1.2 กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบสองคน และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินสองพันสองร้อยกิโลกรัมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งเพื่อสินจ้าง (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5 (2) (ข))

1.3 กำหนดให้นายทะเบียนกลางและนายทะเบียนประจำจังหวัดอาจมอบหมายให้ข้าราชการในสังกัดกรมการขนส่งทางบกกระทำการแทนได้ (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 วรรคสี่)

1.4 ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อตกลงเรื่องการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นข้อตกลงระดับทวิภาคี ซึ่งมีเงื่อนไขตามข้อตกลงที่แตกต่างกัน การนำมาบัญญัติเป็นหลักการทั่วไปอาจไม่ครอบคลุมข้อตกลงหรือสัญญาที่ประเทศไทยทำไว้กับประเทศต่าง ๆ โดยสมควรให้เป็นไปตามข้อตกลงหรืออนุสัญญาแต่ละฉบับ

1.5 กำหนดอัตราค่าบริการตรวจสภาพรถ ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด และบทกำหนดโทษเก็บค่าบริการผิดจากอัตราค่าบริการที่กำหนด (ร่างมาตรา 9 เพิ่มมาตรา 74/1 และร่างมาตรา 13 เพิ่มมาตรา 148/1 และมาตรา 148/2))

1.6 ตัดบทบัญญัติที่ให้ผู้ประจำรถมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสำเนาภาพถ่ายหนังสือแสดงการจดทะเบียนไว้ประจำรถเพื่อแสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการ

1.7 กำหนดบทเฉพาะกาลให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ (ร่างมาตรา 14)

2. ร่างพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 กำหนดบทนิยาม “รถยนต์ส่วนบุคคล” หมายความว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลซึ่งมิได้ใช้ประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)

2.2 กำหนดห้ามมิให้ใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียน รถที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน รถที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปี รถที่แจ้งการไม่ใช้รถ รถที่ทะเบียนระงับ (ร่างมาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6)

2.3 กำหนดให้รถที่ยังมิได้จดทะเบียนสามารถนำมาใช้ได้ชั่วคราว ได้แก่ รถที่จดทะเบียนในต่างประเทศที่นำเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรชั่วคราว หรือใช้ในกิจการใดโดยเฉพาะเป็นการชั่วคราว หรือรถที่ใช้เพื่อการทดสอบ หรือรถที่ใช้ในกรณีอื่นที่มีกฎกระทรวงกำหนด (ร่างมาตรา 5 เพิ่มมาตรา 6/1)

2.4 กำหนดให้นายทะเบียนและผู้ตรวจการมีอำนาจเข้าตรวจในสถานที่จำหน่าย เช่า เช่าซื้อ หรือประกอบธุรกิจเกี่ยวกับรถ เมื่อมีเหตุสงสัยว่ามีรถที่ค้างชำระภาษี หรือมีการใช้รถที่สิ้นอายุการใช้งาน และยึดแผ่นป้ายทะเบียนรถนั้นไว้ได้ (ร่างมาตรา 8 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37)

2.5 กำหนดให้การยึดรถที่ค้างชำระภาษีรถประจำปี เป็นการยึดแผ่นป้ายทะเบียนรถแทน (ร่างมาตรา 7 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 35 วรรคสอง)

2.6 กำหนดให้ยกเลิกมาตรา 39 ที่เกี่ยวกับการขายทอดตลาดรถที่ยึดมาตามมาตรา 35 หรือมาตรา 37 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ที่ให้ยกเลิกการยึดรถ โดยเปลี่ยนมาเป็นการยึดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์แทน (ร่างมาตรา 9)

2.7 กำหนดให้ใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามมาตรา 43 (1) มีอายุสองปีนับแต่วันออกใบอนุญาตขับรถ (ร่างมาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 44 วรรคหนึ่ง)

2.8 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอใบอนุญาตขับรถต้องไม่เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกยึดหรือพักใช้ใบอนุญาตขับรถ ไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ เว้นแต่ได้พ้นกำหนดสามปีนับแต่วันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ (ร่างมาตรา 11 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 46 (8) และร่างมาตรา 12 เพิ่มเติมมาตรา 46 (9))

2.9 กำหนดให้นายทะเบียนหรือผู้ตรวจการมีอำนาจเรียกเจ้าของรถหรือผู้ขับรถมาให้ถ้อยคำหรือยื่นคำชี้แจงหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 13 เพิ่มมาตรา 57 สัตต)

2.10 ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ (ร่างมาตรา 14 ร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 16)

2.11 ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมและภาษีประจำปี ดังนี้

(1) เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตและเครื่องหมายแสดงการใช้รถสำหรับการใช้รถที่ยังมิได้จดทะเบียนซึ่งนายทะเบียนอนุญาตให้ใช้ได้ในบางกรณี เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติ (ร่างมาตรา 17)

(2) ปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เครื่องหมายพิเศษ และสมุดคู่มือประจำรถของรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อมให้เหมาะสม (ร่างมาตรา 18)

(3) ปรับปรุงชื่อของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถตามความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในปัจจุบัน (ร่างมาตรา 19)

(4) ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติที่เพิ่มบัญชีภาษีประจำปีสำหรับรถอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกำหนดให้การคำนวณอัตราภาษีรถดังกล่าวใช้เกณฑ์น้ำหนักของรถในอัตราเดียวกับรถยนต์ส่วนบุคคล (ร่างมาตรา 20)

2.12 กำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรองรับการแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

(1) กำหนดรองรับรถยนต์ส่วนบุคคลที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกให้ใช้ทะเบียนรถนั้นได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุ แต่หากต้องการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุก็สามารถทำได้ โดยให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการให้โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและออกแผ่นป้ายทะเบียน (ร่างมาตรา 21)

(2) กำหนดรองรับการใช้รถที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลของประเทศที่ผู้นำเข้ามีสัญชาติหรือที่รถนั้นจดทะเบียน (ร่างมาตรา 22)

(3) กำหนดให้เจ้าของรถที่ถูกยึดมาก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับมาขอรับคืนภายในกำหนดเวลา โดยให้ยึดแผ่นป้ายทะเบียนรถไว้แทน ถ้ามิได้มาขอรับคืนภายในเวลาที่กำหนดให้ขายทอดตลาดรถนั้น (ร่างมาตรา 23)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ