ร่างพระราชบัญญัติเพื่ออนุวัติการภาคผนวกแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 13:57 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเพื่ออนุวัติการภาคผนวกแนบท้ายความตกลงว่าด้วย

การขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวม 3 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารและสัมภาระทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. ....

1.1 กำหนดให้การดำเนินพิธีการของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร เป็นการดำเนินพิธีการในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 5)

1.2 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลของประเทศภาคีตามความตกลงสำหรับการดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันแต่ละแห่ง และกำหนดข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความ ตกลงที่เข้ามาดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด (ร่างมาตรา 6)

1.3 กำหนดให้การกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายไทยเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดนในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักรเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 9)

1.4 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดนที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรและพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 10 และร่างมาตรา 11)

1.5 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจออกระเบียบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสามารถดำเนินพิธีการได้อย่างเบ็ดเสร็จในพื้นที่ควบคุมร่วมกันได้ (ร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 13)

2. ร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ....

2.1 กำหนดขอบเขตการใช้บังคับแก่การรับขนของทางถนนด้วยรถจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของในราชอาณาจักรไปยังสถานที่ที่จะระบุให้ส่งมอบของนอกราชอาณาจักร หรือจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของนอกราชอาณาจักรยังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของในราชอาณาจักร หรือจากสถานที่ที่ผู้ขนส่งรับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ที่ระบุให้ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่งโดยผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 4 — ร่างมาตรา 5)

             2.2 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ขนส่งต้องออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งและการกำหนดรายการในใบตราส่ง ได้แก่ ชื่อและที่อยู่ของผู้ส่ง ชื่อและที่อยู่ของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งช่วง ชื่อและที่อยู่ของผู้รับตราส่ง เป็นต้น (ร่างมาตรา 9 —                          ร่างมาตรา 13)

2.3 กำหนดหน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งในการตรวจสอบความถูกต้องของรายการที่ปรากฏในใบตราส่งเมื่อได้รับมอบของจากผู้ส่ง และบันทึกข้อแตกต่างไว้ในใบตราส่งในกรณีที่ความแตกต่างนั้นสามารถเห็นได้ประจักษ์ มีหน้าที่ถามเอาคำสั่งจากผู้ส่งทั้งในกรณีที่การรับขนของกลายเป็นพ้นวิสัยหรือดำเนินการต่อไปได้แต่ด้วยเงื่อนไขที่ต่างไปจากสัญญา และในกรณีที่มีพฤติการณ์ขัดขวางการส่งมอบหรือผู้รับตราส่งปฏิเสธไม่ยอมรับมอบของ (ร่างมาตรา 14 — ร่างมาตรา 16)

2.4 กำหนดให้ผู้ส่งต้องรับผิดในความสูญหายหรือเสียหายอันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือไม่เพียงพอของรายละเอียดในใบตราส่งความรับผิดต่อผู้ขนส่งในความเสียหายอันเกิดแก่บุคคลอื่น ทรัพย์สินของบุคคลอื่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นอันเนื่องมาจากความบกพร่องในการบรรจุหีบห่อ และให้ผู้ส่งมีหน้าที่ในการจัดเอกสารที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่พิธีการทางศุลกากรไปกับใบตราส่ง รวมทั้งจัดเอกสารหรือข้อมูลอื่นที่ผู้ขนส่งต้องการหรือดำเนินการให้ผู้ขนส่งสามารถเข้าถึงข้อมูลเช่นว่านั้นได้และต้องรับผิดแก่ผู้ขนส่งในกรณีที่เอกสารและข้อมูลดังกล่าวมีความไม่ถูกต้อง ไม่เพียงพอหรือไม่ครบถ้วน (ร่างมาตรา 18 — ร่างมาตรา 20)

2.5 กำหนดให้ผู้ส่งมีหน้าที่ในการแจ้งสภาพอันตรายแห่งของให้ผู้ขนส่งทราบและความรับผิดในการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าว (ร่างมาตรา 21 — ร่างมาตรา 22)

2.6 กำหนดความผิดและข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีของสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า กรณีที่ถือว่าของนั้นได้สูญหายสิ้นเชิงเนื่องจากล่วงพ้นระยะเวลาส่งมอบของมานานแล้ว และกรณีความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของผู้อื่น (ร่างมาตรา 26 — ร่างมาตรา 28)

2.7 กำหนดให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามร่างพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 37 — ร่างมาตรา 38)

2.8 กำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากการรับขนของทางถนนให้มีอายุความหนึ่งปี (ร่างมาตรา 40)

3. ร่างพระราชบัญญัติการรับขนคนโดยสารและสัมภาระทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ....

3.1 กำหนดขอบเขตการใช้บังคับกับสัญญารับขนคนโดยสารและสัมภาระทางถนน โดยรถจากจุดต้นทางจากประเทศหนึ่งไปยังจุดปลายทางอีกประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ ไม่ว่าสัญญารับขนดังกล่าวจะมีบำเหน็จหรือไม่ก็ตาม (ร่างมาตรา 5)

3.2 กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องเอกสารการเดินทาง ประกอบด้วยตั๋วโดยสารและใบรับสัมภาระลงทะเบียน มีการกำหนดรูปแบบและรายการของตั๋วโดยสารและใบรับสัมภาระลงทะเบียน และกำหนดหน้าที่ของผู้ขนส่งในการบันทึกสัญญารับขนว่าจะต้องมีการบันทึกไว้โดยการออกตั๋วโดยสาร การออกใบรับสัมภาระลงทะเบียน การตรวจสภาพเท่าที่เห็นได้จากภายนอกของสัมภาระลงทะเบียนในเวลาลงทะเบียนสัมภาระ (ร่างมาตรา 9 — ร่างมาตรา 12)

3.3 กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่ง ให้ต้องรับผิดต่อความสูญหายหรือความเสียหาย อันเป็นผลมาจากการตาย การบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสารที่เป็นผลมาจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างคนโดยสารที่อยู่บนรถหรือขณะกำลังขึ้น หรือลงจากรถคันนั้น รับผิดเพื่อความสูญหาย หรือความเสียหายอันเป็นผลมาจากการที่คนโดยสารและสัมภาระไปถึงจุดหมายปลายทางล่าช้า รับผิดเพื่อความสูญหายหรือความเสียหายที่เกิดแก่สัมภาระลงทะเบียนนับแต่เวลาที่ผู้ขนส่งได้รับมอบสัมภาระจนถึงเวลาที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสัมภาระ รับผิดเพื่อความสูญหายหรือความเสียหายของสัมภาระติดตัวเป็นผลมาจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างคนโดยสารอยู่บนรถหรือขณะกำลังขึ้นหรือลงจารถคันนั้น ทั้งนี้ ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพื่อการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของลูกจ้าง ตัวแทน และผู้รับจ้างช่วงที่ได้กระทำในทางการที่จ้างหรือภายในขอบอำนาจแห่งการเป็นตัวแทนหรือในกิจการที่รับช่วงนั้น (ร่างมาตรา 15 — ร่างมาตรา 19)

3.4 กำหนดให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดตามหลักข้อสันนิษฐานการรับผิดกล่าวคือผู้ขนส่งต้องรับผิดในความ สูญหาย หรือความเสียหายอันเป็นผลมาจากการตายการบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจของคนโดยสารที่เป็นผลมาจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งที่เกิดขึ้นระหว่างคนโดยสารอยู่บนรถ หรือขณะกำลังขึ้น หรือลงจากรถคันนั้น ให้สันนิษฐานว่าผู้ขนส่งต้องรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ถึงข้อยกเว้นความรับผิดตามที่กฎหมายกำหนด (ร่างมาตรา 15 และร่างมาตรา 20)

3.5 กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีที่คนโดยสารตาย หรือบาดเจ็บทางร่างกายหรือจิตใจ ให้จำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 9,000 SDR ต่อคนโดยสารแต่ละคนต่อหนึ่งเหตุการณ์ ในกรณีการสูญหายหรือการเสียหายของสัมภาระลงทะเบียน ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ ไมเกิน 8.33 SDR ต่อหนึ่งกิโลกรัมของน้ำหนักรวมทั้งหมดแห่งสัมภาระนั้น หรือ 166.67 SDR ต่อหนึ่งชิ้น แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ในกรณีการสูญหายหรือการเสียหายของสัมภาระติดตัวของคนโดยสาร ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ที่คนละ 166.67 SDR และในกรณีความเสียหายอันเกิดจากการล่าช้าที่มิใช่ความเสียหายของสัมภาระหรือการบาดเจ็บของคนโดยสาร ให้จำกัดความรับผิดไว้ไม่เกินราคาค่าโดยสาร (ร่างมาตรา 22 — ร่างมาตรา 24)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ