ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2012 12:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 (ร่างมาตรา 3)

2. บทนิยาม

แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สัตว์” “การจำหน่ายเนื้อสัตว์” และ ได้กำหนดคำนิยาม เช่น “เนื้อสัตว์” “การประกอบกิจการฆ่าสัตว์” “โรงฆ่าสัตว์” “โรงพักสัตว์” “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” และ “คณะกรรมการประจำจังหวัด” เป็นต้น (ร่างมาตรา 4)

3. หมวด 1 คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์

กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการฆ่าสัตว์” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมอนามัย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายกสัตวแพทยสภา เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามคน เป็นกรรมการ ให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นกรรมการและเลขานุการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในด้านการค้า การลงทุนหรือการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ โดยมีอำนาจหน้าที่ให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีในการกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน และออกกฎกระทรวงตามมาตรา 14 พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กำกับดูแลการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด (ร่างมาตรา 6 ถึงร่างมาตรา 14)

4. หมวด 2 การประกอบกิจการฆ่าสัตว์

กำหนดการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์และประกอบกิจการฆ่าสัตว์ โดยให้คณะกรรมการพิจารณาแผนงานประกอบกิจการฆ่าสัตว์ประจำจังหวัดพิจารณาให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการ กำหนดให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงฆ่าสัตว์สามารถโอนให้แก่บุคคลอื่นได้เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต ส่วนกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตาย ก็ให้โอนไปเป็นของทายาท กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเลิกประกอบกิจการฆ่าสัตว์ต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบเป็นหนังสือไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนเลิกประกอบกิจการ (ร่างมาตรา 15 ถึงร่างมาตรา 30)

5. หมวด 3 การฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์

กำหนดให้พนักงานตรวจโรคสัตว์เพื่อตรวจสอบและควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ ต้องแต่งตั้งจากสัตวแพทย์ หรือบุคคลซึ่งผ่านการศึกษาและฝึกอบรมด้านการตรวจโรคในสัตว์หรือการตรวจเนื้อสัตว์จากในประเทศหรือต่างประเทศตามหลักสูตรที่กรมปศุสัตว์กำหนดและได้รับการรับรองจากสัตวแพทยสภาและได้รับการขึ้นทะเบียนไว้กับกรมปศุสัตว์ และการรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์และวิธีการชำระค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ร่างมาตรา 31 ถึงร่างมาตรา 40)

6. หมวด 4 การพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาต

กำหนดให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตได้ เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่ง และมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตได้เมื่อปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ในใบอนุญาต หรือผู้รับใบอนุญาตเคยถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตและได้กระทำการอันเป็นเหตุให้ต้องถูกพักใช้ใบอนุญาต (ร่างมาตรา 41 ถึง ร่างมาตรา 45)

7. หมวด 5 พนักงานเจ้าหน้าที่

กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ที่มีการฆ่าสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงพักสัตว์ สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ มีอำนาจสั่งให้หยุดยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสัตว์ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด รวมทั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย (ร่างมาตรา 46 ถึงร่างมาตรา 50)

8. บทกำหนดโทษ

กำหนดโทษของการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ใช้เกณฑ์ในการกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา คือ การจำคุกหนึ่งปีต่อโทษปรับสองหมื่นบาท โดยกำหนดให้อธิบดีสามารถเปรียบเทียบปรับการกระทำความ ผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้ เว้นแต่กรณีการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตและการฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีการยกเว้น (ร่างมาตรา 51 ถึงร่างมาตรา 60)

9. บทเฉพาะกาล

กำหนดให้กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 61 ถึงร่างมาตรา 65)

10.อัตราอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย

กำหนดอัตราอากร ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์และเศรษฐกิจในปัจจุบันตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ