การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2012 12:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (8 พฤศจิกายน 2554) เรื่อง แผนงาน/โครงการและงบประมาณในการช่วยเหลือฟื้นฟูเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (ด้านสังคม) ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รง. รายงานว่า รง. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการดูแลช่วยเหลือภาคแรงงานของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สถานประกอบการและลูกจ้าง ได้ตระหนักถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นซึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายกับสถานประกอบการและลูกจ้างเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าจากข้อมูลของศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ รง. ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2554 ปรากฏว่า มีสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย จำนวน 28,679 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 993,944 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้าง จำนวน 85 แห่ง และลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 23,315 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ทำให้อุปกรณ์การผลิตได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง ทำให้อุปกรณ์การผลิตได้รับความเสียหาย ต้องหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อฟื้นฟูให้เข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ลูกจ้างของสถานประกอบการนั้นๆ อยู่ในภาวะว่างงาน รง. จึงได้กำหนดมาตรการในการฟื้นฟูช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยดำเนินการให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการ และลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างและไม่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งแรงงานต่างด้าว โดยมีรายละเอียด สรุปได้ ดังนี้

1. สถานประกอบการ ได้ดำเนินการให้การช่วยเหลือตามโครงการต่างๆ ได้แก่

1.1 โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โดยวัตถุประสงค์หลักต้องการให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้สถานประกอบการยังไม่เลิกจ้าง และเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างของสถานประกอบการ โดยทำข้อตกลงกับนายจ้างว่าจะไม่เลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากสาเหตุการประสบอุทกภัย และรัฐบาลจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในอัตราเดือนละ 2,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้แก่ลูกจ้างเมื่อรวมกันแล้วลูกจ้างต้องได้รับเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับก่อนเกิดอุทกภัย ในระยะแรกรัฐบาลได้อนุมัติการจัดสรรเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อจ่ายให้กับลูกจ้างดังกล่าว จำนวน 100,000 ราย มีสถานประกอบการที่ขอเข้าร่วมโครงการ จำนวน 977 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง จำนวน 252,671 คน ปัจจุบันได้พิจารณาอนุมัติจัดสรรงบประมาณให้สถานประกอบการ จำนวน 234 แห่ง ลูกจ้าง จำนวน 88,706 คน

1.2 โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยการยืมตัวลูกจ้างจากสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยไปทำงานที่สถานประกอบการใกล้เคียงที่ไม่ประสบอุทกภัย ซึ่งขณะนี้มีสถานประกอบการร่วมโครงการ 645 แห่ง ตำแหน่งงานรองรับ จำนวน 78,260 อัตรา มีลูกจ้างเข้าทำงานตามโครงการแล้ว 109 แห่ง 13,241 คน

1.3 โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย โดยสำนักงานประกันสังคมนำเงินไปฝากกับสถาบันการเงิน จำนวน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการกู้เงินไปซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายจากอุทกภัยได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี (คงที่ 3 ปี) ปัจจุบันมีธนาคารเข้าร่วมโครงการ 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลาม ธนาคารออมสิน และธนาคารนครหลวง และได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้สถานประกอบการแล้ว จำนวน 10 ราย เป็นเงิน 10 ล้านบาท (ธนาคารกรุงไทย)

1.4 โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน โดยสำนักงานประกันสังคมนำเงินไปฝากสถาบันการเงิน จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้สถานประกอบการกู้เงินเพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องและเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อรักษาและส่งเสริมการจ้างงาน โดยสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นสถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือน และต้องรักษาจำนวนผู้ประกันตนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 ของจำนวนผู้ประกันตน ณ วันที่ได้รับสินเชื่อตลอดอายุโครงการ 3 ปี โดยให้สถานประกอบการยื่นกู้ได้ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2555 วงเงิน 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี คงที่ 3 ปี (กรณีมีหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือบุคคลค้ำประกัน) ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์เสนอเข้าร่วมโครงการ 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารอิสลาม และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ซึ่งจะต้องจัดทำข้อตกลงต่อไป

1.5 การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงานจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้เหลือร้อยละ 0.1 มีระยะเวลา 1 ปี จากเดิมที่กำหนดให้ผู้เข้ารับการฝึกกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 และสถานประกอบการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับแก้ไขประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

1.6 ขยายหรือเลื่อนระยะเวลาการส่งเงินสมทบ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 47 ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน มาตรา 49 หากนายจ้างไม่ส่งเงินสมทบภายในระยะเวลาที่กำหนดจะต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 2 ต่อเดือน สำนักงานประกันสังคมได้มีแนวคิดในการขยายหรือเลื่อนระยะเวลาการส่งเงินสมทบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยที่จะต้องคิดเงินเพิ่มตามกฎหมาย

1.7 การลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยคณะกรรมการประกันสังคมมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 ให้ลดอัตราเงินสมทบแก่นายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 1 ปี ในปี 2555 ลดจากอัตราเงินสมทบที่จ่ายในปัจจุบันฝ่ายละ ร้อยละ 5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ครึ่งปีแรก (1 มกราคม — 30 มิถุนายน 2555) จ่ายในอัตราฝ่ายละ ร้อยละ 3 และครึ่งปีหลัง (1 กรกฎาคม — 31 ธันวาคม 2555) จ่ายในอัตราฝ่ายละ ร้อยละ 4 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (19 ธันวาคม 2554) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... เพื่อลดอัตราเงินสมทบดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกฎกระทรวงเพื่อประกาศใช้ต่อไป

2. ลูกจ้าง ได้ดำเนินการให้การช่วยเหลือตามโครงการต่างๆ ได้แก่

2.1 กรณีลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง

2.1.1 ช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างให้ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และหากไม่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง ลูกจ้างก็สามารถยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง โดยจะพิจารณาภายในอัตราไม่เกิน 60 เท่า ของค่าจ้างรายวัน ปัจจุบันมีเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จำนวน 259 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีลูกจ้างยื่นขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

2.1.2 ลูกจ้างผู้ประกันตนที่ว่างงานเมื่อเข้าสู่ระบบประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันสังคมจะได้รับเงินช่วยเหลือร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน (ไม่เกิน 7,500 บาท/เดือน/คน) โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม — 29 ธันวาคม 2554 มีผู้ประกันตนที่ว่างงานเนื่องจากสถานประกอบการประสบอุทกภัย ไปขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน จำนวน 13,768 ราย ครึ่งหนึ่งของผู้ถูกเลิกจ้าง

2.1.3 จัดหาตำแหน่งงานว่าง เพื่อจัดหางานให้กับแรงงานที่ประสบอุทกภัย ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่าง จำนวน 160,974 อัตรา

2.1.4 จัดทำโครงการจ้างงานเร่งด่วนและพัฒนาทักษะฝีมือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาชีพ โดยจ้างงานผู้ถูกเลิกจ้างในพื้นที่ประสบอุทกภัยทำงานซ่อมแซมสาธารณประโยชน์ ได้ค่าตอบแทนวันละ 150 บาท ระยะเวลา 20 วัน ซึ่งได้จัดสรรงบประมาณให้ส่วนภูมิภาคดำเนินการแล้ว จำนวน 28 จังหวัด ขณะนี้สามารถช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างว่างงานและขาดรายได้ จำนวน 6,771 คน

2.2 กรณีลูกจ้างที่ยังไม่ถูกเลิกจ้าง

2.2.1 โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โดยวัตถุประสงค์หลักต้องการให้เกิดนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ให้สถานประกอบการยังไม่เลิกจ้าง และเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้าง ทำให้นายจ้างสามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างได้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ และเป็นการช่วยเหลือลูกจ้างของสถานประกอบการ

2.2.2 โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ จะดำเนินการฝึกยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้มีทักษะที่สูงขึ้นตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ โดยลูกจ้างจะได้รับค่าอาหารระหว่างการฝึกรายละ 120 บาท จำนวน 10 วัน รัฐบาลได้อนุมัติงบกลาง จำนวน 61.5 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย 15,000 คน ขณะนี้มีผู้ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 19 รุ่น จำนวน 380 คน

2.2.3 โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยการยืมตัวลูกจ้างจากสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยไปทำงานที่สถานประกอบการใกล้เคียงที่ไม่ประสบอุทกภัย

2.2.4 โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย โดยสำนักงานประกันสังคมนำเงินไปฝากกับสถาบันการเงิน จำนวน 8,000 ล้านบาท เพื่อให้ลูกจ้างที่บ้านเรือนเสียหายจากอุทกภัยกู้เงินไปซ่อมแซมบ้าน รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 ต่อปี (คงที่ 2 ปี) ปัจจุบันมีธนาคารเข้าร่วมโครงการ 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลาม ธนาคารออมสิน และธนาคารนครหลวง มีผู้ประกันตนมาขอหนังสือรับรองจากสำนักงาน ประกันสังคม จำนวน 4,654 ราย และได้มีการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกันตนแล้ว 440 ราย เป็นเงิน 21.002 ล้านบาท

2.2.5 อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัยจัดส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศซึ่งเป็นบริษัทแม่ มีบริษัทมายื่นขออนุญาตพาลูกจ้างคนไทยไปทำงานเป็นการชั่วคราวที่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ จำนวน 75 บริษัท ลูกจ้าง 4,511 คน เดินทางไปแล้ว จำนวน 64 บริษัท ลูกจ้าง 4,070 คน

2.3 กรณีลูกจ้างที่เป็นแรงงานต่างด้าว ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวผู้ประสบอุทกภัยขึ้นที่โรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เข้าพักอาศัยเมื่อเดือนตุลาคม และย้ายไปที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 4 จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2554 เนื่องจากที่เดิมประสบอุทกภัย โดยเป็นการเร่งด่วนเฉพาะหน้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั่วไป แรงงานต่างด้าว และนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวที่ประสบอุทกภัยเข้าพักอาศัย โดยจัดที่พักพร้อมอุปกรณ์และอาหาร มีแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปพักพิงอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวผู้ประสบอุทกภัย ทั้งสิ้น จำนวน 2,014 คน

3. การช่วยเหลือผู้ประกอบการและลูกจ้างเป็นการเฉพาะหน้า

3.1 โครงการกระทรวงแรงงานรวมใจช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม (3 จังหวัด นครสวรรค์ อุบลราชธานี ปทุมธานี) มีผู้เข้าร่วม 6,026 คน

3.2 รับบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้รับเงินบริจาค 6,161,619.40 บาท

3.3 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 อนุมัติงบกลาง จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ประสบอุทกภัย ขณะนี้ได้จัดสรรให้จังหวัดนครปฐม จำนวน 31,510,657.20 บาท จังหวัดปทุมธานี จำนวน 13,704,451 บาท และจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 7,604,693 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 52,819,801.20 บาท เพื่อดำเนินกิจกรรมการช่วยเหลือประชาชนในระยะเร่งด่วน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่น้ำท่วมขัง ทำความสะอาด จัดเก็บขยะในพื้นที่ที่น้ำลด เช่าเหมารถบรรทุกและยานพาหนะเพื่อบริการรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่บริเวณที่น้ำยังท่วมอยู่ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในศูนย์พักพิง เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ