ร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2012 13:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดคำนิยาม คำว่า “สัตว์น้ำ” “ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ” “การประมง” “ทำการประมง” “การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” “การดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ” “การแปรรูปสัตว์น้ำ” “ที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” “ที่จับสัตว์น้ำ” “เครื่องมือทำการประมง” เป็นต้น (ร่างมาตรา 4)

2. กำหนดให้มีมาตรการในการบริหารจัดการการบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ กำหนดให้มีรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยอนุมัติรัฐมนตรีภายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบมีอำนาจประกาศควบคุมการทำการประมงในเขตประมงน้ำจืดและเขตประมงทะเลชายฝั่ง และกำหนดหลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนผู้ประกอบอาชีพการประมงหรืออาชีพในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง เพื่อควบคุมผู้ประกอบอาชีพการประมงหรืออาชีพในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ การประมง และกำหนดให้กรมประมงมีหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อให้การบริหารจัดการด้านประมงเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพและยั่งยืน (ร่างมาตรา 6 ถึงร่างมาตรา 8)

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับด้านการประมง และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีอธิบดีกรมประมงเป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการประมง ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อปฏิบัติงานแทนหรือตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างมาตรา 9 ถึง ร่างมาตรา 14)

4. กำหนดให้มีการเก็บสถิติการประมง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยและการบริหารจัดการด้านการประมง โดยกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดท้องที่ที่จะทำการเก็บสถิติการประมง และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการประมงในเวลาทำการของสถานที่นั้นเพื่อทำการตรวจสอบและจัดเก็บสถิติการประมง (ร่างมาตรา 15 ถึงร่างมาตรา 17)

5. กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมง หรืออาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำมึนเมา หรือปล่อย เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงสู่ที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ กำหนดห้ามครอบครองสัตว์น้ำที่ได้มาโดยรู้ว่าเป็นสัตว์น้ำที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น การปลูกสร้างสิ่งใด การแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ การติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ฝาย ทำนบ รั้ว เครื่องมือ ที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ การควบคุม การครอบครองสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และการควบคุมการครอบครองเครื่องมือทำการประมงที่ใช้ทำการประมงและมีผลเป็นการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรง (ร่างมาตรา 18 ถึงร่างมาตรา 28)

6. กำหนดให้มีเขตการประมง ในน่านน้ำไทย โดยแบ่งออกเป็นสามเขต ได้แก่ เขตประมงทะเลชายฝั่งเขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง และเขตประมงน้ำจืด ซึ่งเป็นการแบ่งเขตตามลักษณะของพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบกิจการประมงรายเล็กและรายใหญ่ (ร่างมาตรา 29 ถึงร่างมาตรา 32)

7. กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการควบคุมการทำประมงในเขตการประมงแต่ละเขตและกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตใช้เครื่องมือทำการประมงในแต่ละเขตการประมง มีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรการใช้เครื่องมือการทำประมง รวมทั้งกำหนดเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์น้ำตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายในเขตพื้นที่รักษาพันธ์สัตว์น้ำ (ร่างมาตรา 33 ถึงร่างมาตรา 37)

8. กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อให้ได้สัตว์น้ำที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนำไปใช้เป็นแนวทางในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณภาพ และกำหนดให้กรมประมงมีอำนาจออกหนังสือรับรองให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งมีอำนาจตรวจรับรองชนิด ลักษณะ คุณภาพ หรือแหล่งกำเนิดของสัตว์น้ำ และตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน น้ำ สัตว์น้ำ กำหนดบริเวณที่จับสัตว์น้ำ ที่จะต้องได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนประกอบกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการขอรับหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ร่างมาตรา 38 ถึงร่างมาตรา 43)

9. กำหนดให้มีมาตรการให้การควบคุมสุขอนามัยของสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อให้ได้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพได้มาตรฐานด้านสุขอนามัยและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การจัดทำมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการจับ การดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังจากการจับ การแปรรูปสัตว์น้ำ การเก็บรักษา การขนส่งหรือขนถ่ายสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำ กำหนดกิจการที่มีการควบคุมการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับและกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมกิจการดังกล่าว และกำหนดห้ามทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำที่เกิดสภาวะมลพิษหรือมีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่เป็นอันตราย ต่อมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำเกินมาตรฐานตามชนิดและปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในกรณีมีเหตุฉุกเฉินและมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าในที่จับสัตว์น้ำนั้นเกิดสภาวะมลพิษหรือมีการปนเปื้อนของสารพิษหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือต่อ สัตว์น้ำ และไม่อาจตรวจพิสูจน์หรือเสนอรัฐมนตรีเพื่อออกประกาศห้ามทำการประมงโดยเด็ดขาดได้ทัน (ร่างมาตรการ 44 ถึงร่างมาตรการ 48)

10.กำหนดให้มีหลักเกณฑ์ในการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การออกหนังสือรับรองสุขภาพหรือคุณภาพสัตว์น้ำ หรือหนังสือรับรองคุณภาพด้านมาตรฐานสุขอนามัยของสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือหนังสือรับรองอื่นตามความต้องการของประเทศปลายทาง และกำหนดห้ามเรือประมงไม่ว่าจะสัญชาติใดที่ทำการประมงอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายของรัฐต่างประเทศที่ซึ่งประเทศไทยให้การยอมรับในฐานะที่มีเขตอำนาจเหนือน่านน้ำที่ทำการประมงหรือฝ่าฝืนพันธกรณีตามข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยสัตว์น้ำซึ่งประเทศไทยหรือรัฐเจ้าของเรือประมงต่างประเทศนั้นเป็นภาคีนำสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 48 ถึงร่างมาตรา 50)

11.กำหนดให้มีคณะกรรมการการประมงนอกน่านน้ำไทย ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอื่นจากหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยมี อธิบดีกรมประมง เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการปฏิบัติการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและนำเสนอแก้ไขปัญหาการทำ การประมงนอกน่านน้ำไทย และเสนอแนะนโยบายและแนวทางในการพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทยต่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ (ร่างมาตรา 1 ถึงร่างมาตรา 53)

12.กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตและผู้รับใบแทนใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาต (ร่างมาตรา 58)

13.กำหนดให้สิทธิในการอนุญาตไม่เป็นมรดกตกทอดไปสู่ทายาท เว้นแต่กรณีที่เป็นผู้รับใบอนุญาตสามารถโอนใบอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นได้ และกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การโอนใบอนุญาตได้ (ร่างมาตรา 59 และร่างมาตรา 60)

14. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถให้บริการในการตรวจสอบ การขอรับใบอนุญาต การออกหนังสืออนุญาต และการขอหนังสือรับรองต่างๆ ตามที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ กำหนดไว้นอกเวลาราชการหรือนอกสถานที่ทำการโดยปกติไม่ว่าในหรือนอกราชาอาณาจักรได้และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจมีหนังสือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาและมีอำนาจเข้าไปในสถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการการประกอบกิจการของผู้รับอนุญาต สถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ต้องมีการควบคุมกิจการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ สถานที่ประกอบกิจการหรือสถานที่ที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ต้องมีการควบคุมการดูแลรักษาสัตว์น้ำหลังการจับ ในระหว่างเวลาทำการของสถานที่ดังกล่าว หรือสั่งให้ผู้ควบคุมเรือประมงหยุด หรือขึ้นไปบนเรือประมง หรือเข้าไปในที่จับสัตว์น้ำเพื่อตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติการ รวมทั้งให้มีอำนาจตรวจค้นสถานที่ใดๆ โดยไม่ต้องมีหมายค้นได้ในกรณีมีเหตุสงสัยว่ามีการกระทำความผิด (ร่างมาตรา 61 และร่างมาตรา 62)

15. กำหนดให้มีมาตรการทางปกครอง โดยนำมาตรการในการพักใช้ใบอนุญาตการระงับการอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตมาใช้บังคับ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ไม่มีเจตนาในการกระทำความผิด รวมทั้งได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดการกับเครื่องมือทำการประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต หรือในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ หรือผู้รับอนุญาตได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตหรือในกรณีที่มีการทำการประมงหรือติดตั้งเครื่องมือการทำประมง สิ่งปลูกสร้าง หรือ สิ่งใดๆ ลงในที่จับสัตว์น้ำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการประมงได้รับการเยียวยาและฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมโดยเร็ว (ร่างมาตรา 65 ถึงร่างมาตรา 70)

16.กำหนดให้มีโทษทางอาญาไว้ 2 ลักษณะ คือ โทษขั้นต่ำและโทษขั้นสูง และกำหนดอัตราโทษไว้แตกต่างกัน ซึ่งในร่างพระราชบัญญัตินี้ยังคงหลักการในการกำหนดโทษไว้ ตามแนวทางดังกล่าว แต่ได้ปรับปรุงสัดส่วนในการกำหนดอัตราโทษของแต่ละลักษณะให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น โดยกรณีโทษขั้นต่ำใช้สัดส่วนโทษปรับหนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อโทษจำคุกขั้นต่ำหนึ่งปี ส่วนกรณีโทษขั้นสูงใช้สัดส่วนโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทต่อโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน (ร่างมาตรา 71 ถึง ร่างมาตรา 85)

17.กำหนดบทเฉพาะกาล โดยกำหนดให้กฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้จนกว่าจะมีกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และกำหนดให้ประทานบัตร อาชญาบัตร การอนุญาต หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ที่มีอยู่ก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอนเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ (ร่างมาตรา 86 และร่างมาตรา 87)

18.กำหนดอัตราค่าอากรและอัตราค่าธรรมเนียม โดยปรับปรุงบัญชีแสดงอัตราค่าอากรใบอนุญาตใช้เครื่องมือทำการประมงตามประเภทเครื่องมือทำการประมงและอัตราค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ