การลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2012 14:20 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC

และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC (Memorandum of Understanding on the Establishment of the BIMSTEC Cultural Industries Commission-BCIC and BIMSTEC Cultural Industries Observatory-BCIO)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC

สาระสำคัญของเรื่อง

วธ. รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ BIMSTEC (กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 10-11 ธันวาคม 2552 ณ กรุงเนปิดอว์ เมียนมาร์ วธ. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC (Memorandum of Understanding on the Establishment of BIMSTEC Cultural Industries Commission and BIMSTEC Cultural Industries Observatory) เพื่อให้ไทยพร้อมที่จะลงนามความตกลงในระหว่างการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 3 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 กุมภาพันธ์ 2555 ณ กรุงเนปิดอว์ เมียนมาร์

2. กรอบความร่วมมือ BIMSTEC หรือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศในภูมิภาคอ่าวเบงกอล ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย พม่า เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยมีความร่วมมือ 13 สาขา และในสาขาความร่วมมือด้านวัฒนธรรม ประเทศภูฏานเป็นประเทศนำ ซึ่งได้มีการประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โดยประเทศภูฏานเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ณ เมืองพาโร และเมืองทิมพู ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้งองค์กรด้านอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมของ BIMSTEC คือ

2.1 คณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (BIMSTEC Cultural Industries Commission-BCIC)

2.2 ศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (BIMSTEC Cultural Industries Observatory-BCIO) ต่อมาที่ประชุมระดับผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้ง BCIC และ BCIO ซึ่งประเทศอินเดียได้ให้การรับรองร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวแล้ว ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ครั้งที่ 10 ณ ประเทศอินเดีย

3. สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC สรุปได้ดังนี้

3.1 วัตถุประสงค์

เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของกลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม เผยแพร่ข้อมูล และอำนวยความสะดวกให้รัฐภาคีเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว

3.2 ลักษณะความร่วมมือ

3.2.1 เป็นความร่วมมือของกลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อก่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยมีคณะกรรมการอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม (BCIC) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรม (BCIO) และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (BCIO) ทำหน้าที่จัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมวัฒนธรรมศึกษาวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ก่อตั้งเว็บไซต์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลอุตสาหกรรมวัฒนธรรมภายในภูมิภาค BIMSTEC และสนับสนุนรัฐภาคีในการพัฒนาแผนและยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างเครือข่ายกับสถาบันที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ดำเนินงานด้านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

3.2.2 ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฯ (BCIO) ได้รับการเสนอชื่อโดยประเทศภูฏาน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปี หลังจากนั้นคณะกรรมการฯ (BCIC) สามารถทบทวนการดำรงตำแหน่งได้ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฯ ทำหน้าที่เลขาธิการบริหาร คณะกรรมการฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนระดับสูงที่ได้รับการเสนอชื่อจากรัฐภาคี รัฐละ 1 คน มีวาระตามปกติ 3 ปี และสามารถพิจารณาต่อวาระได้

3.2.3 คณะกรรมการฯ (BCIC) ประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยจัดตั้งขึ้นก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรีวัฒนธรรม BIMSTEC โดยรัฐภาคีหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพและประธานการประชุมเรียงตามลำดับตัวอักษร

3.3 งบประมาณ

งบประมาณของศูนย์ปฏิบัติการฯ (BCIO) ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายสถาบันและค่าใช้จ่ายโครงการ ซึ่งจะได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ (BCIC) และค่าใช้จ่ายกองทุน โดยประเทศเจ้าภาพเป็นฝ่ายรับผิดชอบ

3.4 การเริ่มต้นมีผลบังคับใช้

ศูนย์ปฏิบัติการฯ (BCIO) จะเริ่มดำเนินงานนับตั้งแต่วันที่มีการลงนามในข้อตกลงฉบับนี้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 31 มกราคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ