คณะรัฐมนตรีรับทราบการแบ่งงานขุดลองคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภายใต้การบูรณาการความรับผิดชอบระหว่างกรุงเทพมหานคร และ 9 กระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณเพิ่มเติม สำหรับการขุดคลองของส่วนราชการให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) พิจารณาต่อไป และให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) ทำหน้าที่ประสานงานและติดตามการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกับสำนักงาน กยน. และรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบทุกระยะ
สาระสำคัญของผลการประชุมปรึกษาหารือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สรุปได้ว่า รัฐบาลจะช่วยกรุงเทพมหานครดำเนินการป้องกันน้ำท่วมเกี่ยวกับการขุดลอกคลอง การซ่อมแซมประตูระบายน้ำ การออกแบบและติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ การเชื่อมโยงระบบเตือนภัย รวมถึงการจัดทำแผนเผชิญเหตุและคลังเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
การแบ่งงานขุดลอกคลองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อยู่ภายใต้หลักการที่รัฐบาลจะมอบหมายให้กระทรวงที่มี ขีดความสามารถเข้าไปช่วยดำเนินการ โดยจะขุดลอกคลองในพื้นที่ ทั้งสิ้น 43 คลอง 48 รายการ ภายใต้การบูรณาการความรับผิดชอบการขุดลอกคลองระหว่างกรุงเทพมหานคร และ 9 กระทรวง สรุปดังนี้
1. การแบ่งงานขุดลอกคลองหลัก 29 แห่ง รวม 29 รายการ ได้แก่ 1) กรุงเทพมหานคร 19 คลอง 2) กระทรวงกลาโหม 5 คลอง 3) กระทรวงมหาดไทย 1 คลอง 4) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1 คลอง 5) กระทรวงสาธารณสุข 2 คลอง 6) กระทรวงแรงงาน 1 คลอง โดยกรุงเทพมหานครโอนงบประมาณให้ส่วนราชการดำเนินการ
2. การขุดลอกคลองเพิ่มเติม 14 แห่ง และขยายความยาวของการขุดลอกคลองหลักเดิม 5 คลอง รวม 19 รายการ ได้แก่ 1) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 คลอง 2) กระทรวงกลาโหม 10 คลอง 3) กระทรวงมหาดไทย 1 คลอง 4) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 คลอง 5) กระทรวงคมนาคม 1 คลอง 6) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 คลอง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--