การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 8, 2012 13:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ กต. เป็นหน่วยงานหลักในการรณรงค์หาเสียงและจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงระดับชาติ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในการหาเสียง ตลอดจนเป็นกลไกกลางในการประสานงานตลอดระยะเวลาการรณรงค์หาเสียง โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน

2. เห็นชอบให้เรื่องการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 เป็น “วาระแห่งชาติ” ของรัฐบาล โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีที่เห็นเหมาะสมจัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กต. กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นต้น เพื่อกำหนดกลไกและหน่วยงานหลักที่จะนำวาระแห่งชาติดังกล่าวไปดำเนินการให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย การกำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานการเตรียมการทั้งในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในทุกมิติที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลไทยได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันมีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานฯ อย่างเป็นทางการแล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ตุรกี (เมืองอิซเมียร์) สหพันธรัฐรัสเซีย (เมืองเยคาเตรินเบิร์ก) บราซิล (เมืองเซา เปาโล) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (เมืองดูไบ) โดยจะมีการลงคะแนนเสียงในช่วยปลายปี 2556

2. ประเทศผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก (majority vote) จากสมาชิกสมัชชาสำนักงานมหกรรมโลก [Bureau of International Expositions (BIE)] จำนวน 157 ประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน เนื่องจากการรณรงค์หาเสียงเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว จะมีระยะเวลาประมาณ 2 ปี คือ ระหว่างปี 2555 — 2556 นอกจากนี้ ประเทศไทยจะต้องนำเสนอความคืบหน้าในการเตรียมการการเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวต่อที่ประชุม BIE อีก 2 ครั้งในปี 2555 และอีก 1 — 2 ครั้งในปี 2556 ด้วย

3. กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักของงาน World Expo และเป็นผู้แทนไทยในการประชุม BIE ได้มีหนังสือแจ้งว่า การที่จะประสานงานกับ BIE และการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิกให้ประสบความสำเร็จ อาจจะต้องมีการเจรจาระหว่างประเทศ จึงขอให้ กต. พิจารณารับเป็นหัวหน้าคณะทำงานหาเสียงสนับสนุนฯ และเป็นแกนกลางในการประสานกับ BIE ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลก World Expo 2020 ต่อไป ซึ่ง กต. ได้มีหนังสือตอบรับในหลักการแล้ว

4. เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2554 ได้มีการประชุมสมัชชาของ BIE ครั้งที่ 150 ณ กรุงปารีส โดยประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ 5 ประเทศ ได้นำเสนอโครงการต่อที่ประชุมสมัชชาฯ ในส่วนของไทย มีนายอรรคพล สรสุชาติ ผู้อำนวยการ สสปน. เป็นผู้นำเสนอ โดยได้เน้นถึงการมีส่วนร่วมของไทยในงานมหกรรมโลก World Expo อย่างต่อเนื่องกว่า 140 ปี และแนวคิดหลัก (Theme) สำหรับการจัดงานฯ ของไทย คือ “Redefine Globalisation : Balanced Life, Sustainable Living” หรือนิยามเป็นภาษาไทยว่า “แนวคิดใหม่ของโลกาภิวัฒน์ — วิถีที่ยั่งยืน เพื่อโลกที่สมดุล” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการทบทวนกระบวนทัศน์เกี่ยวกับยุคโลกาภิวัฒน์ เพื่อสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม

5. การรณรงค์หาเสียงในต่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในหลายระดับ รวมทั้งกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การหาเสียงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 ของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับแนวนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาล

6. การดำเนินการเสนอตัวเพื่อการประมูลสิทธิ์ให้ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2020 รวมทั้งการรณรงค์หาเสียง ไม่เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ