คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 18
2. เห็นชอบในการประสานความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นและหุ้นส่วนการพัฒนาอื่นในการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
3. เห็นชอบให้มีเวทีหารือผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้คณะผู้แทนไทย ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะ เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 18 ซึ่งมีการประชุมระหว่างวันที่ 8 — 9 ธันวาคม 2554 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา สรุปผลการประชุมได้ดังนี้
1. โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนไซยะบุรี เป็นโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขง สายประธานในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ ว่าด้วยการปรึกษาหารือกันก่อน (Prior Consultation : PC) ซึ่งกระบวนการปรึกษาหารือดังกล่าว จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน (22 ตุลาคม 2553 — 22 เมษายน 2554) แต่ประเทศภาคีสมาชิกไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนในผลการศึกษาและมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนหลายประการ คณะมนตรีฯ จึงได้มีการหารือระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง — ญี่ปุ่น (Mekong — Japan Summit) ครั้งที่ 3 เดือนพฤศจิกายน 2554 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และมีมติอนุมัติในหลักการให้มีการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำโขง และแม่น้ำโขงสายประธาน ไม่เพียงแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบจากการพัฒนาโครงการประเภทอื่น ๆ ด้วย และได้มีการพิจารณาขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น (Development Partners) เพื่อศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประเทศภาคีสมาชิกจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในกระบวนการปรึกษาหารือและการเจรจากับรัฐบาลญี่ปุ่นและหุ้นส่วนการพัฒนาอื่น เพื่อกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการที่เหมาะสม
2. คณะมนตรีฯ เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงลุ่มน้ำนานาชาติ — ลุ่มน้ำโขง (Mekong 2 Rio: Mekong to Rio+20) ในวันที่ 1 — 3 พฤษภาคม 2555 ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เพื่อจัดทำ Mekong Messages นำเสนอผลงาน คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นการอนุวัตตามเป้าหมายแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDG) โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2012 (Rio+20) ในเดือนมิถุนายน 2555 ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--