การจัดทำบันทึกความร่วมมือทวิภาคี ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 8, 2012 13:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ เพื่อที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะได้ลงนามกับสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ ต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (United States Patent and Trademark Office - USPTO) ได้เสนอให้มีการจัดทำบันทึกความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ (Memorandum of Bilateral Cooperation between the Department of Intellectual Property, Thailand and the United States Patent and Trademark Office) เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาศักยภาพ และระบบบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการปฏิบัติ และกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญา

2. ร่างบันทึกความร่วมมือฯ มีสาระสำคัญ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์

เพื่อกำหนดกรอบความร่วมมือทวิภาคี ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาและสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ เพื่อการพัฒนาศักยภาพระบบทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวทางการปฏิบัติ และกิจกรรมเสริมสร้างศักยภาพด้านทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่

2.2 สาระสำคัญ

2.2.1 สำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ และกรมทรัพย์สินทางปัญญาดำเนินความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งครอบคลุมเรื่องการฝึกอบรมและเสริมสร้างศักยภาพ การเผยแพร่ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลและแนวปฏิบัติในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

2.2.2 ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดการฝึกอบรมและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากร และสำนักงานในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา การบริหารจัดการระบบ และกระบวนการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โครงสร้างพื้นฐานและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการตรวจสอบ การพัฒนาศักยภาพผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า การบังคับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการพัฒนากฎหมายและนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

2.2.3 ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันส่งเสริมความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีต่อนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดสัมมนา ประชุมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษา สร้างความตระหนักและการให้ความรู้สาธารณชนในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

2.2.4 ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวทางปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่เป็นความลับระหว่างกัน เช่น คู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ข้อมูลการยื่นคำขอและการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่เปิดเผยต่อสาธารณะ รายงานผลการดำเนินงาน แผนยุทธศาสตร์ กฎหมาย กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

2.2.5 ทั้งสองฝ่ายอาจร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี เพื่อกำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการภายใต้ความร่วมมือนี้ และอาจจัดประชุมหรือหารือทางไกล (conference call) ตามความจำเป็น รวมทั้งแต่งตั้งผู้ประสานงานเพื่อทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกันเพื่อประโยชน์ของการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือฯ นี้

2.2.6 บันทึกความร่วมมือฯ ไม่ก่อให้เกิดข้อผูกพันทางกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ถือเป็นสนธิสัญญาตามคำจำกัดความของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 และการดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือฯ นี้ ให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของงบประมาณและบุคลากรที่มีอยู่

2.2.7 บันทึกความร่วมมือฯ นี้ เป็นการลงนามระหว่างอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย กับผู้อำนวยการสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าสหรัฐฯ โดยจะมีผลใช้บังคับทันทีที่ทั้งสองฝ่ายลงนาม และมีระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ลงนาม โดยอาจยกเลิกได้ก่อนครบกำหนดระยะเวลา รวมทั้งอาจแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยความเห็นชอบจากคู่ภาคีทั้งสองฝ่าย

3. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. แจ้งว่า ข้อ IV ของร่างบันทึกความร่วมมือฯ ระบุอย่างชัดเจนว่า ร่างบันทึกความร่วมมือฯ นี้ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันระหว่างไทยและสหรัฐฯ ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ถือเป็นสนธิสัญญาตามคำจำกัดความของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ดังนั้น ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว จึงไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงไม่จำเป็นต้องขอรับความเห็นชอบจากรัฐสภา อย่างไรก็ดี บันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงต้องเสนอร่างความร่วมมือให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย

4. พณ. เห็นว่าร่างบันทึกความร่วมมือฯ มุ่งเน้นความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร แลกเปลี่ยนความรู้ และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญาผ่านกิจกรรมความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรม การสัมมนา แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทย และศักยภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ การดำเนินการตามบันทึกความร่วมมือฯ ฉบับนี้ จะอยู่ภายใต้บุคลากรและงบประมาณที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ รวมทั้งบันทึกความร่วมมือฯ ยังมีถ้อยคำที่ระบุว่าจะไม่ก่อให้เกิดข้อผูกพันทางกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศต่อทั้งสองฝ่าย จึงเห็นควรที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะลงนามในบันทึกความร่วมมือฯ ดังกล่าว

5. พณ. ยืนยันความเห็นซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กต. ว่า ร่างบันทึกความร่วมมือฯ ไม่จัดเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศและไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง รวมทั้งไม่มีผลเป็นการผูกพันทางด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฯ จึงไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามบทบัญญัติในมาตราดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ