คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมการทบทวนนโยบายการค้าของไทย ครั้งที่ 6 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับประเด็นสำคัญที่สมาชิกหยิบยกในระหว่างการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทย ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องรับการทบทวนนโยบายการค้าจากที่ประชุมองค์กรทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review Body : TPRB) ทุก ๆ 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ทราบและเข้าใจนโยบายการค้าของประเทศสมาชิกที่ได้รับการทบทวน อันจะเป็นการช่วยลดความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศลงได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นมุมมองของสมาชิกอื่น ๆ ต่อความโปร่งใสของการดำเนินนโยบายและมาตรการทางการค้าของประเทศที่ได้รับการทบทวน ซึ่งหากไม่มีการชี้แจงปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว อาจมีผลต่อเนื่องไปสู่การร้องเรียน ในกระบวนการระงับข้อพิพาทต่อไปได้
2. การทบทวนนโยบายการค้าของไทยภายใต้องค์การการค้าโลกเป็นกระบวนการที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอดทั้งปี 2554 โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายงานทบทวนนโยบายการค้าของไทยเพื่อเสนอต่อสมาชิก รวมทั้งจัดประชุมหารือระหว่างหน่วยงานไทยและฝ่ายเลขาธิการขององค์การการค้าโลกเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ปรากฏในร่างรายงานนโยบายการค้าของไทยฉบับที่ฝ่ายเลขาธิการขององค์การการค้าโลกได้จัดทำขึ้น ซึ่งรายงานทั้งสองฉบับได้ถูกเวียนเพื่อเป็นข้อมูลให้สมาชิกใช้ประกอบการประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนนโยบายการค้าของไทยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2554 และสมาชิกให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับนโยบายการค้าของไทย ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบคำถามของสมาชิก
3. ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกหลายประเทศมีข้อกังวลต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าของไทยหลายประการ ดังนี้
3.1 ความล่าช้าในการปรับโครงสร้างในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านทรัพย์สินทางปัญญา การแปรรูปองค์กรของรัฐ (Privatization) การเปิดเสรีด้านการค้า บริการ และการลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ และกระทบต่อปริมาณการลงทุนของต่างชาติ (FDI)
3.2 การปรับปรุงระบบโครงสร้างภาษีศุลกากร รวมถึงปัญหาการรับสินบนของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและระบบการให้รางวัลนำจับกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร
3.3 ระบบโครงสร้างภาษีภายในประเทศของไทยที่มีความยุ่งยากซับซ้อน
3.4 การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีซึ่งส่งผลให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ของแต่ละความตกลง โดยเรียกว่าผลกระทบผัดไทย (Pad Thai Effect)
3.5 นโยบายด้านการลงทุนของไทยที่ต้องการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายใน เช่น ข้อจำกัดในเรื่องการถือครองหุ้นของต่างชาติ และข้อจำกัดเรื่องกฎระเบียบในบางสาขาเฉพาะ รวมทั้งความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการชำระภาษี และปัจจัยจากความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วยเช่นกัน
3.6 ข้อจำกัดภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและข้อจำกัดในสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ต่างชาติถูกจำกัดไม่ให้ถือครองเกินร้อยละ 49 โดยเฉพาะในสาขาโทรคมนาคม ประกันภัย และโลจิสติกส์ รวมทั้งความสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้องค์การการค้าโลกในกรณีการให้สิทธิพิเศษของไทยต่อสหรัฐฯ ภายใต้สนธิสัญญาไมตรี
3.7 การละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์และการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษอย่างมีประสิทธิภาพ
3.8 ประเด็นอื่น ๆ เช่น การออกระเบียบกำหนดมาตรฐานสำหรับสินค้าขั้นกลาง การออกกฎระเบียบว่าการขึ้นทะเบียนยาขององค์การอาหารและยา ด้วยการติดฉลากเตือนบนสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การให้สิทธิพิเศษกับองค์การเภสัชกรรม ในการได้รับการพิจารณาจัดซื้อยาโดยโรงพยาบาลของรัฐก่อน การประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว และกรณีการให้ใบอนุญาตให้บริการ 3G ที่ล่าช้าเนื่องจากกระบวนการทางกฎหมาย เป็นต้น
4. การทบทวนนโยบายการค้าเป็นเรื่องที่สมาชิกองค์การการค้าโลกให้ความสำคัญอย่างมาก โดยเป็นกระบวนการใช้ในการติดตามตรวจสอบนโยบายและกฎหมายการค้าการลงทุนของสมาชิก ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสมาชิกในการลงทุนในประเทศไทย ในการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก ครั้งที่ 6 นี้ สมาชิกได้ให้ความสนใจโดยมีคำถามกว่า 400 คำถาม จากสมาชิกกว่า 20 ประเทศ ซึ่งมากกว่าในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อปี 2550 โดยในคราวนั้นประเทศไทยได้รับคำถามประมาณ 100 คำถาม ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้น เช่น ประเด็นเรื่องสนธิสัญญาไมตรีระหว่างไทย-สหรัฐฯ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ความยุ่งยากซับซ้อนและไม่โปร่งใสของระบบโครงสร้างภาษีศุลกากรและภาษีภายในประเทศ ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาและข้อจำกัดในภาคการลงทุนและบริการ เป็นต้น ซึ่งเป็นคำถามที่เคยถูกยกขึ้นมาแล้วในการทบทวนนโยบายการค้าของไทยเมื่อ 4 ปีก่อน และสมาชิกก็จับตาดูอยู่ว่าไทยจะกำหนดนโยบายเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางใด ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีความเห็นว่ารัฐบาลควรถือโอกาสในการปฏิรูปโครงสร้าง และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องไปพร้อม ๆ กันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกโดยเฉพาะในด้านการลงทุน
5. พณ. ได้จัดทำตารางสรุปประเด็นสำคัญที่สมาชิกหยิบยกในระหว่างการประชุมทบทวนนโยบายการค้าของไทยเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--