คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วง 3 เดือน (กันยายน — พฤศจิกายน 2554) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของรายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญของรัฐบาลในรอบ 3 เดือน จำแนกออกได้เป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก สถานการณ์การพัฒนาประเทศในช่วง 3 เดือนของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่วนที่ 2 การให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ส่วนที่ 3 การดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วนที่เริ่มดำเนินการในปีแรก และส่วนที่ 4 การดำเนินการตามนโยบายตามกรอบการบริหารราชการ 4 ปีของรัฐบาล มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้
1. สถานการณ์การพัฒนาประเทศในช่วง 3 เดือนของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในเดือนสิงหาคม 2554 เศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ได้สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยคาดว่ามีผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศประมาณร้อยละ 2.3 ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ร้อยละ 3.5 — 4.0 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.8 การบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.5 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.7 การส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 17.2 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP
เหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกเดือนตุลาคม 2554 มีมูลค่า 17,192 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และส่งผลต่อเนื่องถึงเดือนพฤศจิกายน 2554 โดยมีมูลค่า 15,498 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรมีการปรับตัวดีขึ้นในเดือนกันยายน ตุลาคม 2554 โดยขยายตัวร้อยละ 23.8 และ 13.3 เป็นผลจากการขยายตัวทั้งด้านการผลิตและราคาพืชเกษตร และหลังจากรัฐบาลดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ได้ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิปรับตัวสูงขึ้นจาก 12,331.4 บาทต่อตันในช่วง 8 เดือนแรกของปีเป็น 13,275.0 14,265.2 และ 15,219.0 บาทต่อตัน ในเดือนกันยายน ตุลาคม และ พฤศจิกายน 2554 ตามลำดับ เช่นเดียวกับราคาข้าวเปลือกเจ้าปรับตัวสูงขึ้นจาก 8,618.0 บาทต่อตันในช่วง 8 เดือนแรกของปีเป็น 9,949.0 10,217.4 และ 10,305.0 บาทต่อตัน ในเดือนกันยายน ตุลาคม และ พฤศจิกายน 2554 ตามลำดับ
2. การให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
จากการเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนตุลาคม—พฤศจิกายน 2554 ซึ่งส่งผลต่อความเดือดร้อนของประชาชนอย่างกว้างขวาง รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้การช่วยเหลือ ดังนี้
2.1 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 โดยดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ช่วยเหลือประชาชน การวางแผนการเคลื่อนย้าย อพยพประชาชน และจัดเตรียมที่พักอาศัยให้แก่ ผู้ประสบอุทกภัย การอำนวยความสะดวกการเดินทางและขนส่ง ให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร การช่วยเหลือประชาชนผ่าน Call Center การผลิตและแจกจ่ายน้ำดื่ม การจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว การแจกจ่ายถุงยังชีพ ให้กับผู้ประสบอุทกภัย และการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดย ดำเนินการรักษาผู้ป่วย ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ แจกจ่ายยาเวชภัณฑ์ บริการตรวจรักษาในศูนย์พักพิง เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากที่พัก รวมทั้งการออกหน่วยแพทย์เยียวยา คัดกรองปัญหาสุขภาพจิต
2.2 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 กำหนดแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและขั้นตอนการฟื้นฟูเป็น 4 ระยะ โดยสรุปผลการดำเนินการได้ดังนี้
1) ระยะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยจัดทำคันกั้นน้ำช่วงที่มีน้ำท่วมขังสูง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำ และการป้องกันพื้นที่ชุมชนรวมทั้งพื้นที่อุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยโดยหน่วยงานราชการและเหล่าทัพ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือและบริการสิ่งของบรรเทาทุกข์ ถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค และของใช้ที่จำเป็น พร้อมทั้งจัดรถโดยสารอพยพผู้ประสบอุทกภัยและรับส่งผู้ป่วย
2) ระยะของการช่วยเหลือระหว่างที่ระดับน้ำในพื้นที่ยังท่วมสูง โดยจัดทำระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย 2554 และจัดทำแผนปฏิบัติการแก้วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ปี พ.ศ. 2554 ตลอดจนบูรณาการข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศและข้อมูลพื้นฐานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมขัง และทิศทางระบายของน้ำพื้นที่ที่เสียหายจากอุทกภัย พร้อมทั้งเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคในศูนย์พักพิง นอกจากนั้นได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ส่งออกทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม จัดศูนย์กระจายสินค้าชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาตรวจสอบ ซ่อมแซมเครื่องมือและเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งการออกมาตรการภาษีค่าธรรมเนียมและเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยทั้งผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนทั่วไป
3) ระยะการฟื้นฟูภายหลังน้ำลดแล้ว โดยจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจากภัยธรรมชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยด้านการเกษตรปี 2554 กรณีพิเศษ ตั้งแต่เริ่มฤดูฝน ปี 2554 (วันที่ 1 พฤษภาคม 2554) เฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนด้านพืช ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ รวมทั้งจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เสบียงสัตว์ แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ นอกจากนั้น ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้น 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) 2) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) 3) คณะกรรมการเพื่อการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต (กคช.) และ 4) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (กคฐ.)
4) ระยะการปรับโครงสร้างถาวร โดยตั้งคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศให้เป็นระบบถาวร ได้แก่ 1) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ซึ่งได้กำหนดกรอบยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการ ยุทธศาสตร์การพัฒนาเชิงพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการประกันภัย และ 2) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดย กยน. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน และคณะอนุกรรมด้านการวางแผนและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กยน. ได้จัดทำหลักการแนวทางการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาดำเนินการระยะเร่งด่วน แผนปฏิบัติการบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ร่างยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน (กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา) และจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับแผนการดำเนินงานภายใต้แผนฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้าง ภายใต้แนวทางการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาดำเนินการระยะเร่งด่วน จำนวน 17,126 ล้านบาท ในปี 2555-2556 ซึ่งคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554
3. นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ได้ดำเนินการเยียวยาและฟื้นฟูแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากความเห็นที่แตกต่างและความรุนแรง การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดครบวงจร และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง นอกจากนี้ได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเสี่ยงภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง 25 ลุ่มน้ำ โครงการจัดทำฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเตรียมการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดต่างๆ เพื่อบรรเทาภัยแล้งและอุทกภัย รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควบคู่กับเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ สำหรับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ชะลอการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซิน 95 น้ำมันเบนซิน 91 และน้ำมันดีเซล และขยายระยะเวลาตรึงราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ภาคขนส่งต่อไปเพื่อลดภาระผู้บริโภค พร้อมกับจัดทำโครงการนำร่องบัตรเครดิตพลังงาน NGV สำหรับกลุ่มรถรับจ้างสาธารณะ และขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้านการเดินทาง รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท จัดให้มีเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โครงการบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยหลังแรกและส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งผู้ประกอบการ เกษตรกรและประชาชนทั่วไป
4. การดำเนินการตามนโยบายตามกรอบการบริหารราชการ 4 ปีของรัฐบาล
4.1 นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐ โดยอัญเชิญพระราชดำริไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเพื่อเทิดทูนและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลได้ดำเนินการด้านความมั่นคงโดยสร้างความร่วมมือด้านการข่าวกรองและแลกเปลี่ยนข่าวกรองกับมิตรประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับจัดประชุมหารือกรณีปัญหาความขัดแย้งบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย—กัมพูชา เพื่อเตรียมการดำเนินงานภายหลังจากมีคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ โดยยกร่างนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 และยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ พ.ศ. 2555-2559 รวมทั้งการฝึกซ้อมการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติเพื่อพัฒนาระบบการเตรียมพร้อมแห่งชาติ พร้อมกับการปรับปรุงระบบป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเข้มงวด ให้ความเป็นธรรมและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบภายในประเทศควบคู่กับการจัดการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ภายใต้ความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของชาติกับการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน
4.2 นโยบายเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้ดำเนินโครงการ PGS (Portfolio Guarantee Scheme) ระยะที่ 3 เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อมกับการสร้างรายได้ให้ทุกภาคส่วน โดยดำเนินโครงการพลิกฟื้นการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ซึ่งมุ่งเน้นส่งเสริมการลงทุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ขึ้น 2 เท่าตัวในเวลา 5 ปี รวมทั้งสร้างหลักประกันความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในภาวะปกติและภาวะวิกฤต และจัดมาตรการเตรียมพร้อมให้ภาคธุรกิจและประชาชนไทยสามารถปรับตัว เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่และมีความพร้อมรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกภาคส่วน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีความพร้อมทางด้านแรงงานและวัตถุดิบ พร้อมทั้งศึกษาผลกระทบของการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ต่อโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคของไทย นอกจากนี้ ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยภาคเกษตร ได้จัดระบบการปลูกพืชและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนให้แก่กลุ่มเกษตรกร องค์กรเกษตรกร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน เพื่อการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลผลิต ด้วยการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนดอกเบี้ยต่ำผ่านกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ภาคอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2555-2574) และส่งเสริมการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการจัดการโลจิสติกส์ พร้อมกับดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Cluster Based Industry) ด้วยการพัฒนาคลัสเตอร์และห่วงโซ่อุปทานสิ่งทอในส่วนภูมิภาค และโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก พร้อมทั้งโครงการอุตสาหกรรมการเกษตร (Agro-Industry) ครบวงจร
ด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในกลุ่มพื้นที่ที่มีศักยภาพ ยกระดับและรักษามาตรฐานบริการด้านการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ด้านกีฬา จัดทุนการศึกษาและทุนสนับสนุนแก่เด็กและเยาวชนที่มีความสามารถ พร้อมกับการพัฒนาและส่งเสริมกีฬาเพื่อความเป็นเลิศด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬามาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง ภาคการตลาด การค้า และการลงทุน ได้ดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ผลักดันในการต่ออายุโครงการสิทธิ GSP ดำเนินโครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการระงับใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากไทย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ฯ และ ด้านพลังงานได้ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการขนส่ง โดยจัดหารถโดยสารเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) แทนรถโดยสารเดิม และกำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟของประเทศระหว่างปี 2555-2575 พร้อมกับการจัดหาและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เช่น การเปิดดำเนินการ LNG Receiving Terminal การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี การเตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างอาเซียนกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) โดยเพิ่มเป้าหมายการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเป็นร้อยละ 25 ภายในปี 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) และการปรับปรุงแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ. 2554—2573) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ดำเนินโครงการนำร่องเพื่อให้บริการ Wi-Fi ฟรี ในพื้นที่สาธารณะ และกำลังเร่งผลักดันโครงการให้บริการ Wi-Fi ฟรีในพื้นที่สาธารณะให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกับสร้างความตระหนักในการใช้ ICT อย่างสร้างสรรค์ ให้ประชาชนจงรักภักดีและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามโครงการศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
4.3 นโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต ได้จัดทำยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในโครงการมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการที่เป็นการบูรณาการหน่วยงานทางการศึกษาทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาจัดห้องปฏิบัติการและแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้านอาชีพ และจัดโครงการย้ายครูคืนถิ่นพร้อมกับกำหนดกรอบแนวทางเพิ่มเติมการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีการประเมินคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณ กระบวนการและผลจากการปฏิบัติงาน และมีส่วนร่วมในการประเมิน นอกจากนี้ได้ระบบข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานให้เชื่อมโยงทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานได้มากขึ้น จัดตั้งศูนย์ข้อมูลเตือนภัยด้านแรงงาน โดยจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะแรงงานเพื่อเป็นข้อมูลเตือนภัยและวิเคราะห์สถานการณ์แรงงาน และการคุ้มครองแรงงานโดยกำกับดูแลสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน รณรงค์ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานแก่ลูกจ้าง พร้อมกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์และปรับบริการทางการแพทย์ให้กับผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคม
จัดตั้งศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองในโรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ และส่งเสริมให้รัฐและเอกชนร่วมจัดบริการสถานบริการสุขภาพภาคเอกชนให้ได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับผลิตพยาบาลวิชาชีพและแพทย์เพิ่มเติมโดยกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม สำหรับนโยบายศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้นำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดงาน “Creative Fine Arts” เศรษฐกิจสร้างสรรค์ จากทุนวัฒนธรรม พร้อมกับการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในงานเทศกาล “The CIOFF World Folkloriada Anseong Pre Festival” ณ เมือง Anseong สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมกับการขจัดสื่อที่เป็นภัยต่อสังคมและขยายสื่อดี เพื่อนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เช่น การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้านความมั่นคงของชีวิตและสังคม ได้สนับสนุนการดำเนินงานจัดหาครอบครัวบุญธรรม/ครอบครัวอุปการะให้แก่เด็กในสถานสงเคราะห์และกลุ่มเด็กในภาวะยากลำบากในชุมชน จัดกิจกรรมให้ครอบครัวและเด็กปฐมวัยได้เรียนรู้และพัฒนาการสื่อสารและสร้างความรักความอบอุ่น และส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ โดยจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยและเสริมสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน พัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่เด็กด้อยโอกาส พร้อมกับสร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยดำเนินการผ่านกองทุนเพื่อการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
4.4 นโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลได้เข้มงวดต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับการบุกรุกและการตัดไม้ทำลายป่า พร้อมกับฟื้นฟูปรับปรุงระบบนิเวศการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ ส่งเสริมหลักการคนอยู่ร่วมกับป่า พัฒนางานด้านวนศาสตร์ชุมชน ดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของ ภายใต้กลไก REDD ในบริบทของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการดูแลป่าไม้ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มาจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ พร้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล โดยดำเนินโครงการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเล โดยจัดกิจกรรมเก็บขยะใต้ท้องทะเลและริมชายหาดเพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ได้สนับสนุนเงินอุดหนุนและเงินกู้จากกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินโครงการด้านการจัดการมลพิษแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และเอกชน และสนับสนุนเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554 โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กองทุนสิ่งแวดล้อมลงอีกร้อยละ 1.0 ต่อปี เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ได้เร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินที่อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถออกโฉนดที่ดิน และจัดบริการการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดทำระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ ระบบตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วม และระบบศูนย์รวมข้อมูลอุทกภัยไทย ตลอดจนการสร้างเครือข่ายศูนย์เตือนภัยภาคประชาชน เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบพยากรณ์และเตือนภัย และฟื้นฟูความเสียหายจากภัยธรรมชาติและบรรเทาสาธารณภัย โดยเพิ่มศักยภาพระบบพยากรณ์และเตือนภัยด้านน้ำ การจัดทำระบบป้องกันและเตือนภัยธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของทุกภาคส่วนให้สามารถรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
4.5 นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ให้ประชาชนได้ใช้ในชีวิตประจำวันให้ทัดเทียมกับพัฒนาในระดับนานาชาติ และยกมาตรฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับ พัฒนาสายงานการวิจัย เพื่อให้นักวิจัยมีระบบความก้าวหน้าในวิชาชีพ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างหน่วยงานสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัย โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบบริหารและจัดการงานวิจัยของประเทศ ที่ได้นำระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (National Research Project Management: NRPM) มาใช้เป็นเครื่องมือบริหารงานวิจัยและงบประมาณการวิจัยของประเทศ และส่งเสริมการใช้ข้อมูลเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยนำข้อมูลเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศมาใช้เพื่อการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ อาทิ โครงการพัฒนาระบบให้บริการภูมิสารสนเทศพร้อมใช้เพื่อการเฝ้าระวังและติดตามทรัพยากร ภัยพิบัติและพืชเศรษฐกิจ และโครงการศึกษาการทรุดตัวของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากภาพถ่ายดาวเทียมเรดาห์
4.6 นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รัฐบาลได้ส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียภายใต้กรอบความร่วมมือด้านต่าง ๆ และเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคง และดำเนินโครงการด้านการทูตวัฒนธรรมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทยตามแผนยุทธศาสตร์โดยสื่อชั้นนำของโลก พร้อมกับคุ้มครองผลประโยชน์และดูแลคนไทยและแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยส่งเสริมบทบาทและความแข็งแกร่งของชุมชนชาวไทยในการรักษาเอกลักษณ์และความเป็นไทยโดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการทูตเพื่อประชาชน นอกจากนี้ได้ดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ด้วยหลักการตามแนวพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”
4.7 นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี รัฐบาลได้ดำเนินโครงการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐของส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล พัฒนาและส่งเสริมระบบการบริหารงานบุคคลภาครัฐ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกำหนดตำแหน่งให้มีความคล่องตัว มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพข้าราชการ พร้อมกับพัฒนาสมรรถนะของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่อง ดำเนินโครงการวางระบบและพัฒนากลไกการพัฒนาด้วยวิธีการเรียนรู้ทางไกลและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e - Learning) และเตรียมความพร้อมสู่การรวมตัวประชาคมอาเซียน รวมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของข้าราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ได้พัฒนารูปแบบ แนวทางการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และวางแผนยกระดับคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัด (ก.ธ.จ.) ให้สามารถปฏิบัติงานยกระดับธรรมาภิบาลจังหวัดให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านกฎหมายและการยุติธรรมรัฐบาลได้เร่งรัดดำเนินการปฏิรูประบบกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้ทันสมัย สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมรวมทั้งทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยการพัฒนากฎหมายและจัดตั้งคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อเป็นหลักประกันการใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม สุจริต ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน พร้อมกับขับเคลื่อนโครงการคืนคนดีสู่สังคมเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้พ้นโทษให้มีงานทำในระยะแรกที่พ้นโทษ นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ สื่อสารมวลชน และสื่อสาธารณะทุกประเภทได้อย่างกว้างขวางรวดเร็ว ถูกต้อง เป็นธรรม โดยพัฒนาศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ให้เป็นหน่วยงานต้นแบบระดับภูมิภาคทั่วประเทศ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐผ่านเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมกับการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารโดยใช้สื่อต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--