ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 29, 2012 10:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการกลางที่จะบัญญัติในร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 แล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น แต่ยังคงได้รับจัดสรรงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ (มาตรา 4)

2. กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ แต่พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน (มาตรา 11)

3. มหาวิทยาลัยมีอำนาจในการซื้อ ขาย จ้าง รับจ้าง สร้าง จัดหา โอน รับโอน เช่า ให้เช่า เช่าซื้อ ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพย์สินต่าง ๆ ในทรัพย์สิน และจำหน่ายสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตลอดจนรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุดหนุนหรืออุทิศให้ (มาตรา 12(1))

4. มหาวิทยาลัยสามารถกู้ยืมเงิน ให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันด้วยบุคคลหรือทรัพย์สินและร่วมลงทุนหรือลงทุน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 7 การกู้ยืมเงิน การให้กู้ยืมเงิน การร่วมลงทุนหรือการลงทุน ถ้าเป็นจำนวนเงินเกินวงเงินที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน (มาตรา 12(4))

5. มหาวิทยาลัยมีรายได้จากการที่รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปโดยตรงเป็นรายปีในจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยและการพัฒนามหาวิทยาลัย เพื่อประกันคุณภาพการศึกษา

ในกรณีที่รัฐบาลได้ปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดแก่ข้าราชการ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินทุนอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกันเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้พนักงานมหาวิทยาลัยด้วย

ในกรณีรายได้มีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของมหาวิทยาลัยและค่าภาระต่าง ๆ ที่เหมาะสม และมหาวิทยาลัยไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐบาลพึงจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยตามความจำเป็นของมหาวิทยาลัย (มาตรา 13)

6. มหาวิทยาลัยมีอำนาจปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุและที่เป็นทรัพย์สินอื่น (มาตรา 14 วรรคสอง)

7. สภามหาวิทยาลัยเป็นองค์กรบริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัย การดำเนินการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยจะสิ้นสุดที่สภามหาวิทยาลัยทั้งด้านการบริหารงานบุคคล การเงิน และวิชาการ องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยจะต้องมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกมหาวิทยาลัยมากกว่าบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี (มาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 19)

8. ให้มีสภาวิชาการเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวการเปิดสอนตามหลักสูตร ปิดหลักสูตรและการวัดผลการศึกษา การให้ปริญญา อนุปริญญา และประกาศนียบัตร การจัดตั้ง การรวมและการยุบเลิกส่วนงานทางวิชาการของมหาวิทยาลัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งและถอดถอนศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์พิเศษ และอื่น ๆ ต่อสภามหาวิทยาลัย สภาวิชาการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสามปี และอาจได้รับเลือกใหม่ได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน (มาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 23)

9. อธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้ (มาตรา 28 และมาตรา 30)

10. กำหนดให้มหาวิทยาลัยวางและรักษาไว้ซึ่งระบบบัญชีอันถูกต้อง แยกตามประเภทงานส่วนที่สำคัญ มีสมุดบัญชีลงรายการรับและจ่ายเงิน สินทรัพย์ หนี้สิน ทุน รายได้และค่าใช้จ่ายแสดงรายการที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริง ตามประเภทงานพร้อมด้วยข้อความอันเป็นที่มาของรายการนั้น ๆ และให้มีการตรวจสอบบัญชีภายในเป็นประจำ และมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอกที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้สอบบัญชีของมหาวิทยาลัย (มาตรา 48 และมาตรา 50)

11. ให้รัฐมนตรีมีอำนาจและหน้าที่กำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล หรือมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย (มาตรา 53)

12. ให้ข้าราชการ พนักงานราชการ และลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ซึ่งสังกัดมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ยังคงสถานะความเป็นข้าราชการ พนักงานราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการอยู่ต่อไป หากผู้ใดประสงค์จะสมัครเข้าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ต้องยื่นหนังสือแสดงความจำนงต่อมหาวิทยาลัยภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (มาตรา 72 และมาตรา 74)

สำหรับผลกระทบด้านงบประมาณนั้น ในระยะเริ่มแรกเมื่อปรับเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เป็นมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐและเป็นนิติบุคคล รัฐบาลจะต้องจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยจัดสรรให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตให้มีจำนวนที่เพียงพอเพื่อใช้ในการดำเนินการของมหาวิทยาลัย สวนดุสิต เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แต่เมื่อมหาวิทยาลัยได้ดำเนินกิจการไปได้ระยะหนึ่งและมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานเป็นระบบแล้ว งบประมาณด้านนี้ย่อมลดลง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ