การลงนามพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ตามพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 29, 2012 11:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ลงนามพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ตามพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และมอบหมายให้ นายนรชิต สิงหเสนี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก หรือ ผู้ที่นายนรชิตฯ มอบหมาย เป็นผู้ลงนามในพิธีสารเสริมฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. สมัชชาภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพในการประชุม สมัยที่ 5 เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น มีมติรับรองพิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ความเสียหายตามพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Nagoya-kuala Lumpur Supplementary Protocol on Liability and Redress to the Cartagena Protocol on Biosafety) โดยกำหนดให้มีการลงนามรับรองพิธีสารเสริมฯ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2554 — 6 มีนาคม 2555

2. พิธีสารเสริมนาโงยา-กัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการรับผิดและชดใช้ตามพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

2.1 พิธีสารเสริมฯ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกลไกการดำเนินงานตามมาตรา 27 ของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ และมาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่กำหนดให้มีการควบคุมดูแลเทคโนโลยีชีวภาพให้มีความปลอดภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ ด้วยการจัดเตรียมหลักเกณฑ์และวิธีการระหว่างประเทศในเรื่องของการรับผิดและชดใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม

2.2 หลักการของพิธีสารเสริมฯ

2.2.1 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมจะต้องรับผิดชอบในการดำเนินการตามมาตรการตอบสนองทันทีที่เกิดผลกระทบ และ / หรือ ชดใช้ค่าเสียหายตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายภายในของภาคี

2.2.2 กฎหมายภายในจะต้อง

  • กำหนดให้ผู้ประกอบกิจกรรมแจ้งหน่วยงานรับผิดชอบทันทีที่เกิดความเสียหาย ประเมินความเสียหาย และดำเนินมาตรการตอบสนองที่เหมาะสมและต้องไม่ขัดขวางการดำเนินการใด ๆ ของหน่วยงานรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขเยียวยา และภาคีพิธีสารฯ มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการประเมินความเสียหายและการดำเนินการตามมาตรการจากผู้ประกอบกิจกรรม
  • กำหนดเรื่องการแก้ไขเยียวยา การทบทวน การบริหารการจัดการ การตัดสินของศาล
  • กำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางการรับผิดทางแพ่งโดยอาจใช้ (ก) กฎหมายที่มีอยู่ หรือ (ข) พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์นี้ หรือ (ค) ผสมผสาน (ก) และ (ข) โดยระบุถึงความเสียหาย มาตรการรับผิด ช่องทางการรับผิดสิทธิที่จะเรียกร้อง

2.2.3 พิธีสารเสริมฯ ฉบับนี้นำมาใช้กับความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตอำนาจรัฐของภาคี ซึ่งเป็นผลมาจากการขนส่ง การนำผ่าน การดูแลและการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน

2.2.4 การลงนามพิธีสารเสริมฯ จะเป็นการสนับสนุนแนวทางและทิศทางการเจรจาที่ไทยเจรจาต่อรองในระหว่างการจัดทำพิธีสารเสริมฯ โดยเฉพาะหลักการตามกรอบการเจรจาที่คณะผู้แทนไทยใช้ในการรับรองพิธีสารเสริมฯ ในการประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ สมัยที่ 5 เมื่อเดือนตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกรอบการเจรจาดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ