คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณารวมกับร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐมนตรีผู้รักษาการเป็น “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน” เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วย การปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และให้มีอำนาจออกระเบียบและประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขมาตรา 6)
2. กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับต่อไปในกรณีที่มิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องภายในระยะเวลาตามมาตรา 13 (ร่างมาตรา 4 แก้ไขมาตรา 12 วรรคสอง)
3. กำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์การแจ้งข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง (ร่างมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 13 และร่างมาตรา 6 แก้ไขมาตรา 16)
4. ขยายระยะเวลาการแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานขยายระยะเวลาการดำเนินการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน และแก้ไขเพิ่มเติมขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการเกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ (ร่างมาตรา 7 แก้ไขมาตรา 21 และมาตรา 22)
5. แก้ไขเพิ่มเติมเงื่อนไขการห้ามนายจ้างปิดงานหรือห้ามลูกจ้างนัดหยุดงานเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 22 (ร่างมาตรา 8 แก้ไขมาตรา 34 (3))
6. ปรับปรุงองค์ประกอบและวิธีการได้มาซึ่งกรรมการในคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ และการแต่งตั้งประธานกรรมการหรือกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่าง (ร่างมาตรา 9 แก้ไขมาตรา 37 มาตรา 38 และมาตรา 39)
7. ยกเลิกหลักเกณฑ์การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานที่จะต้องเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานหรือเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกันกับผู้ขอจดทะเบียนสหภาพแรงงานและมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป และกรณีที่กำหนดห้ามพนักงานและฝ่ายบริหารตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน รวมทั้งกรณีที่กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจทำการแทนนายจ้างในการจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษ หรือการเลิกจ้างจะเป็นสมาชิกในสหภาพแรงงานที่ลูกจ้างอื่นได้จัดตั้งหรือเป็นสมาชิกอยู่ไม่ได้ (ร่างมาตรา 11 แก้ไขมาตรา 95 วรรคสาม)
8. กำหนดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อร่วมประชุมหรืออบรมตามที่ราชการกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่กรรมการไตรภาคีตามที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนเป็นพยานตามหมายเรียกของศาลในคดีเกี่ยวกับแรงงาน (ร่างมาตรา 12 แก้ไขมาตรา 102)
9. กำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่ลูกจ้างกำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงานหรือใช้สิทธิปิดงานเฉพาะลูกจ้าง ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องเป็นบางคนอันเป็นการเลือกปฏิบัติ (ร่างมาตรา 13 แก้ไขมาตรา 121)
10. กำหนดห้ามนายจ้างเลิกจ้างบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามมาตรา 12 หรือคำ ชี้ขาดมีผลใช้บังคับ (ร่างมาตรา 14 แก้ไขมาตรา 123)
11. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น (ร่างมาตรา 15 แก้ไขมาตรา 130)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--