ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 12:05 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย

ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอของประธานกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) โดยในกรณีการเยียวยาสื่อมวลชนชาวต่างประเทศที่เสียชีวิต คือ นาย Hiroyuki Muramoto และ Fabiio Polenghi เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินการ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน สำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548 — 2553) ตามที่ประธาน ปคอป. เสนอ

ส่วนกรณีเงินช่วยเหลือเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้เสียชีวิตตามมติคณะรัฐมนตรี (10 มกราคม 2555) ในอัตรา 4.5 ล้านบาทต่อราย เพื่อชดเชยค่าเสียโอกาสแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต เห็นควรมอบหมายให้ ปคอป. พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าวให้เหมาะสมกับสภาพครอบครัวของผู้เสียชีวิต

สาระสำคัญของเรื่อง

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 เห็นชอบในหลักการการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่ของรัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชน รวมทั้งครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว ตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประมาณปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 มีกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหาย ได้แก่ เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต อัตรา 4,500,000 บาทต่อราย เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ อัตรา 250,000 บาทต่อราย เงินชดเชยกรณีทุพพลภาพ เงินชดเชยกรณีสูญเสียอวัยวะ เงินชดเชยกรณีได้รับบาดเจ็บไม่สูญเสียอวัยวะ คำนวณตามสัดส่วนของอัตราเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต เงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล การชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง และการชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ อัตรา 3,000,000 บาทต่อราย และให้นำเงินช่วยเหลือหรือชดเชยอื่น ๆ จากภาครัฐทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับไปแล้ว (ถ้ามี) มาหักออกจากเงินเยียวยาที่จะได้รับครั้งนี้ โดยให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยา และมอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานงานกับกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ในการจัดหาวงเงินงบประมาณตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยา ความเสียหาย และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติวงเงินงบประมาณอีกครั้งหนึ่งนั้น

ปคอป. ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดยการประชุม ปคอป. ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 เห็นว่าเพื่อให้การดำเนินการเกิดความรวดเร็ว ควรเยียวยาด้านการเงินสำหรับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง ตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหาย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 เป็นลำดับแรก และเห็นชอบในหลักการให้นำเสนอ ดังนี้

1. หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินสำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ 1 จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553)

1.1 การเยียวยาด้านการเงินภายใต้หลักเกณฑ์นี้จะจำกัดเฉพาะผู้เสียหายที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะสำคัญ สูญเสียอวัยวะไม่สำคัญ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เนื่องจากการอยู่ในสถานที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553) คือ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาล พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2548 เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุการณ์การชุมนุมต่อต้านรัฐประหารของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อเดือนเมษายน 2552 และเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 โดยที่ผู้เสียหายมิได้เป็นบุคคลที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดีโดยหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับความเหมาะสมหรือไม่ในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้เสียหายที่จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบก่อนให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงิน

1.2 เงื่อนไขการใช้สิทธิรับเงินเยียวยาและการจ่ายเงินเยียวยา

1.2.1 เป็นผู้เสียหายที่ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ หรือได้รับบาดเจ็บหรือเป็นบุตร/สามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย/บิดามารดาของผู้เสียหายที่เสียชีวิต เนื่องจากการอยู่ในสถานที่ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553)

1.2.2 กรณีผู้เสียหายที่ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ หรือได้รับบาดเจ็บ ให้ใช้สิทธิตามลักษณะความเสียหายได้เพียงกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น

1.2.3 ผู้ใช้สิทธิรับเงินเยียวยาต้องดำเนินการตามที่กำหนดครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว

1.2.4 เงินเยียวยาจะจ่ายให้ผู้มีสิทธิตามที่กำหนดเท่านั้น โดยจะไม่มีการตกทอดทางมรดกไปยังทายาทตามกฎหมายอื่น ๆ และให้นำจำนวนเงินช่วยเหลือหรือชดเชยอื่น ๆ จากภาครัฐทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับไปแล้ว (ถ้ามี) มาหักออกจากจำนวนเงินเยียวยาที่จะได้รับภายใต้หลักเกณฑ์นี้ และเมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้รับเงินเยียวยาภายใต้หลักเกณฑ์นี้แล้ว ให้ถือว่าสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือหรือชดเชยอื่น ๆ จากภาครัฐเป็นอันระงับสิ้นไป

1.3 ให้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาทราบโดยวิธีการที่ทั่วถึง โปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาหรือผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนด พร้อมทั้งแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงได้ว่าได้รับบาดเจ็บหรือสูญเสียอวัยวะในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง (2548-2553) ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล สำเนาใบมรณบัตร (กรณีเสียชีวิต) หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี) และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบคำร้องเพื่อลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา ณ สถานที่และภายในเวลาที่กำหนด

1.4 ให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาตามหลักเกณฑ์นี้

2. ประมาณการวงเงินงบประมาณ ตามกรอบอัตราเงินช่วยเหลือ ชดเชย เยียวยาความเสียหาย ตามนัยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 (สำหรับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง) ได้อาศัยฐานข้อมูลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปรากฏมีผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ช่วงปี 2551 ถึง 2553 เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้จำนวน 2,369 ราย ประมาณการวงเงินเยียวยาจำนวน 1,931,530 บาท ทั้งนี้ ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประมาณปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้ คงมีจำนวนมากกว่าฐานข้อมูลที่นำมาใช้ประมาณการ และจำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณมากกว่าประมาณการข้างต้น ประกอบกับประเด็นในการจัดหาวงเงินงบประมาณได้มีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ ร่วมในการประชุมด้วยแล้ว จึงเสนอให้ใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในวงเงิน 2,000,000,000 บาท (สองพันล้านบาท) เพื่อดำเนินการเยียวยาความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง โดยให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยเบิกจ่ายงบประมาณ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ