มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 12:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐนำมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุได้พิจารณาแล้วในการประชุมครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 ครั้งที่ 5/2555 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 และครั้งที่ 6/2555 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ไปถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยนำมาตรการนี้ไปใช้บังคับในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษโดยอนุโลม ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐต้องดำเนินการอย่างรัดกุมและปฏิบัติต่อคู่สัญญาภาครัฐทั้งหมดให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง รายงานว่า

1. สืบเนื่องจากในช่วงต้นปี พ.ศ. 2554 ต่อเนื่องไปถึงต้นปี พ.ศ. 2555 ได้มีสถานการณ์อุทกภัยที่สำคัญเกิดขึ้น 4 ครั้งด้วยกัน ดังนี้

1.1 เหตุอุทกภัยอันเนื่องมาจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน แพร่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้ลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้กำลังแรง ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงระหว่างวันที่ 23 มีนาคม — 18 เมษายน 2554 ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวม 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา กระบี่ ชุมพร พังงา นราธิวาส และสตูล

1.2 เหตุอุทกภัยอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “นกเตน” และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่าน อิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พายุไห่ถาง, พายุเนสาด และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม — 16 มกราคม 2555 ในพื้นที่รวม 65 จังหวัด

1.3 เหตุอุทกภัยอันเนื่องมาจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ในช่วงระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554 — 8 ธันวาคม 2554 ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ รวม 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส สงขลา ยะลา และปัตตานี

1.4 เหตุอุทกภัยอันเนื่องมาจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้ตอนล่าง เข้าปกคลุมชายฝั่งทะเลมาเลเซีย อ่าวไทย และภาคใต้ตอนล่างในช่วงระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2554 — 10 มกราคม 2555 ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้รวม 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง และระนอง

2. อุทกภัยดังกล่าวเกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการขนส่ง ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและวัสดุก่อสร้าง โรงงานการผลิต รวมทั้งพื้นที่ดำเนินการ เครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ เกิดความเสียหายจากการถูกน้ำท่วมขัง เป็นต้น แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการเกิดอุทกภัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงเห็นสมควรที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าวโดยให้ครอบคุลมทั่วประเทศ

3. กวพ. ในการประชุม ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2555 ครั้งที่ 5/2555 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 และ ครั้งที่ 6/2555 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 พิจารณาแล้ว เห็นควรให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ดังนี้

3.1 การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างในภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 23 มีนาคม — 18 เมษายน 2554 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

3.1.1 เป็นการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา กระบี่ ชุมพร พังงา นราธิวาส และสตูล

3.1.2 เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างเท่านั้น

3.1.3 ผู้ประกอบการที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาต้องเป็นคู่สัญญาที่ได้ลงนามทำสัญญากับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ ก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2554 หรือระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2554 จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2554 ซึ่งสัญญาดังกล่าว ณ วันที่ 23 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2554 ยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานในงวดสุดท้าย หรือสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่แต่ได้มีการส่งมอบงานในงวดสุดท้ายในช่วงวันที่ 23 มีนาคม 2554 ถึงวันที่ 18 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุอุทกภัยยกเว้นสัญญาที่หน่วยงานได้พิจารณาก่อนวันที่ 23 มีนาคม 2554 แล้วว่า จะบอกเลิกสัญญาเนื่องจากคู่สัญญาปฏิบัติผิดสัญญา กรณีสัญญาดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีนี้

3.1.4 หากสัญญาจ้างก่อสร้างอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 3.1.1 — 3.1.3 ให้หน่วยงานขยายระยะเวลาออกไปอีก จำนวน 180 วัน โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

(1) กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างได้ดำเนินการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตามสัญญา และได้ถูกปรับไว้ในช่วงก่อนหน้าวันที่ 23 มีนาคม 2554 ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้รับจ้างที่ต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าปรับในช่วงก่อนหน้าที่จะได้รับการช่วยเหลือฯ แต่จะได้รับการลดหรืองดค่าปรับเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการนี้เท่านั้น

(2) กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาตามสัญญา ให้ขยายระยะเวลา โดยนับถัดจากวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเดิม

3.1.5 กรณีสัญญาจ้างก่อสร้าง หากหน่วยงานได้พิจารณาขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับด้วยเหตุดังกล่าวตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการพัสดุของหน่วยงานนั้น ๆ ไปแล้วจนถึง วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือฯ ตามมาตรการดังกล่าว โดยหน่วยงานได้พิจารณาขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับ ให้ไม่ถึงจำนวน 180 วัน ก็ให้เพิ่มระยะเวลาโดยขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับออกไปให้ครบจำนวน 180 วัน โดยนับถัดจากวันที่ได้รับการพิจารณาให้ขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานนั้น ๆ

3.2 การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างและผู้ประกอบการอื่นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่าง วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 — 16 มกราคม 2555 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ดังนี้

3.2.1 เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างและผู้ประกอบการอื่นทั่วประเทศ

3.2.2 การพิจารณาให้ความช่วยเหลือนี้ใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้าง สัญญาจ้างประเภทอื่น ที่มิใช่สัญญาจ้างก่อสร้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างที่ปรึกษา สัญญาจ้างออกแบบ และสัญญาจ้างเหมาบริการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ

3.2.3 ผู้ประกอบการที่มีสิทธิได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาต้องเป็นคู่สัญญาที่ได้ลงนามทำสัญญากับส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 หรือระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2555 ซึ่งสัญญาดังกล่าว ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2555 ยังมีนิติสัมพันธ์อยู่และยังมิได้มีการส่งมอบงานหรือส่งมอบของในงวดสุดท้าย หรือสัญญาดังกล่าวยังมีนิติสัมพันธ์อยู่แต่ได้มีการส่งมอบงานหรือส่งมอบของ ในงวดสุดท้ายในช่วงวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 16 มกราคม 2555 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุอุทกภัย ยกเว้น สัญญาที่หน่วยงานได้พิจารณาก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 แล้วบอกว่า จะบอกเลิกสัญญาเนื่องจากคู่สัญญาปฏิบัติผิดสัญญา กรณีสัญญาดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีนี้

3.2.4 กรณีที่หน่วยงานได้ดำเนินการจัดหาพัสดุโดยมีการเสนอราคาไว้แล้วก่อนเกิดเหตุอุทกภัย จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และอยู่ระหว่างรอลงนามในสัญญา หากผู้เสนอราคาไม่ประสงค์จะลงนามในสัญญาหรือข้อตกลงกับหน่วยงานให้ผู้เสนอราคาแจ้งเป็นหนังสือต่อหน่วยงานที่จัดหาพัสดุภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และเมื่อผู้เสนอราคามีคำขอแล้ว หากหน่วยงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้เสนอราคารายนั้นได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยจริง ก็ให้เป็นดุลยพินิจของหน่วยงานที่จะยกเลิกการลงนามในสัญญาได้ โดยไม่ถือว่าเป็นผู้ทิ้งงาน และให้คืนหลักประกันซองแก่ผู้เสนอราคารายนั้น และหากหน่วยงานประสงค์จะดำเนินการจัดหาพัสดุต่อไปให้ดำเนินการจัดหาใหม่ตามระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุที่ใช้บังคับแก่หน่วยงานนั้นๆ

3.2.5 กรณีสัญญาซื้อขายที่ผู้ขายไม่สามารถที่จะส่งมอบของตามสัญญาซื้อขายได้ ให้คู่สัญญาตกลงยกเลิกสัญญาต่อกันได้ ทั้งนี้ ผู้ขายต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อหน่วยงานที่จัดหาภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และเมื่อผู้ขายมีคำขอแล้วหากหน่วยงานพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ขายรายนั้นได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยจริงก็ให้เป็นดุลยพินิจหน่วยงานที่จะพิจารณาตกลงยกเลิกสัญญา โดยไม่ถือว่าเป็นผู้ทิ้งงานและให้คืนหลักประกันสัญญา ในกรณีที่ผู้ขายรายใดได้รับเงินล่วงหน้าไปแล้ว ก็ให้กำหนดให้คืนเงินล่วงหน้าดังกล่าวแก่ทางราชการก่อนการคืนหลักประกันสัญญา

3.2.6 การขยายระยะเวลา ให้ดำเนินการดังนี้

(1) สัญญาจ้างก่อสร้าง หรือสัญญาจ้างประเภทอื่นที่มิใช่สัญญาจ้างก่อสร้าง ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 3.2.3 ให้หน่วยงานขยายระยะเวลาออกไปอีก จำนวน 180 วัน

(2) สัญญาซื้อขาย ที่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 3.2.3 ให้หน่วยงานขยายระยะเวลาออกไปอีก จำนวน 120 วัน

3.2.7 สัญญาที่ได้รับการขยายระยะเวลาออกไปตามข้อ 3.2.6 ให้หน่วยงานดำเนินการดังนี้

(1) กรณีสัญญาได้ดำเนินการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จตามสัญญา และได้ถูกปรับไว้ในช่วงก่อนหน้าวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องรับผิดชอบในส่วนของค่าปรับในช่วงก่อนหน้าที่จะได้รับการช่วยเหลือฯ แต่จะได้รับการลดหรืองดค่าปรับเฉพาะในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการนี้เท่านั้น

(2) กรณีสัญญาที่ยังอยู่ภายในระยะเวลาตามสัญญาให้ขยายระยะเวลา โดยนับถัดจากวันสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาเดิม

3.2.8 กรณีสัญญาที่หน่วยงานได้พิจารณาขยายระยะเวลางดหรือลดค่าปรับด้วยเหตุผลดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการพัสดุของหน่วยงานนั้น ๆ ไปแล้ว ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ความช่วยเหลือฯ ตามมาตรการดังกล่าว โดยหน่วยงานได้พิจารณาขยายระยะเวลา งดหรือลดค่าปรับ ให้สัญญาจ้างก่อสร้างหรือสัญญาจ้างประเภทอื่น ที่มิใช่สัญญาจ้างก่อสร้าง ไม่ถึงจำนวน 180 วัน หรือสัญญาซื้อขายให้ไม่ถึง 120 วัน ก็ให้เพิ่มระยะเวลาโดยขยายระยะเวลา งดหรือค่าปรับออกไปให้ครบจำนวน 180 วัน หรือ 120 วัน แล้วแต่กรณี โดยนับถัดจากวันที่ได้รับการพิจารณาให้ขยายระยะเวลางดหรือลดค่าปรับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานนั้น ๆ

3.2.9 สัญญาอื่น ๆ ให้พิจารณาดำเนินการดังนี้

(1) สัญญาจ้างที่ปรึกษา และสัญญาจ้างออกแบบให้หน่วยงานพิจารณาว่า สัญญาดังกล่าวได้รับผลกระทบหรือไม่ เช่น สถานประกอบการของผู้รับจ้างหรือสถานที่ทำการของหน่วยงานคู่สัญญา หรือสถานที่อื่นใดตามสัญญาได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยอันเป็นเหตุทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานขยายระยะเวลาให้ได้ตามจำนวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง ทั้งนี้ หากระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบทับซ้อนกันอยู่ ให้นำระยะเวลาที่ทับซ้อนกันมาหักออกจากระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด

(2) สัญญาจ้างเหมาบริการ ในกรณีสถานที่ทำการส่วนราชการประสบอุทกภัย เป็นเหตุให้พนักงานของผู้รับจ้างไม่อาจมาปฏิบัติงานหรือมาปฏิบัติงานแต่ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ให้หน่วยงานพิจารณาแก้ไขสัญญาโดยปรับลดเนื้องานและหักเงินค่าจ้างตามสัดส่วนที่พนักงานของผู้รับจ้างไม่อาจมาปฏิบัติงานหรือมาปฏิบัติงานแต่ไม่ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยไม่ต้องคิดค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญา

4. กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างตามข้อ 3.1 หรือข้อ 3.2 หากหน่วยงานได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับผู้รับจ้าง และได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้แก่ผู้รับจ้างก่อนเกิดเหตุอุทกภัย และสัญญานั้นยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ในช่วงที่เกิดอุทกภัย หากผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา และยังไม่เคยเข้ามาทำงานในสถานที่ก่อสร้างดังกล่าว โดยไม่มีเหตุอันสมควรจนกระทั่งเกิดเหตุอุทกภัย กรณีนี้ ผู้รับจ้างไม่อาจขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการฯ ได้

5. กรณีสัญญาจ้างก่อสร้างที่ได้รับความช่วยเหลือฯ ตามข้อ 3.1 หรือข้อ 3.2 หากสัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าวมีการจ้างเอกชนควบคุมงาน ค่าจ้างควบคุมงานและหรือค่าจ้างที่ปรึกษา ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้รับภาระค่าจ้างควบคุมงาน และหรือค่าจ้างที่ปรึกษาสำหรับระยะเวลาที่ได้ขยายออกไป เนื่องจากผู้รับจ้างได้รับประโยชน์จากการได้รับการขยายระยะเวลาดังกล่าวแล้ว

6. กรณีสัญญาที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับความช่วยเหลือฯ ตามข้อ 3.1 หรือข้อ 3.2 หากการขยายระยะเวลาออกไป มีผลทำให้ผู้รับจ้างไม่ถูกปรับ ก็ให้งดลดค่าปรับหรือคืนเงินค่าปรับ ตามความเป็นจริง แล้วแต่กรณี

7. ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือฯ จะต้องยื่นคำร้องขอต่อหน่วยงานคู่สัญญาภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ทั้งนี้ หากเป็นผู้ประกอบการก่อสร้างที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือฯ ตามข้อ 3.1 และข้อ 3.2 ผู้ประกอบการก่อสร้างจะต้องแจ้งสิทธิว่า จะขอรับการช่วยเหลือฯ ตามข้อ 3.1 หรือข้อ 3.2 แต่เพียงเหตุเดียว

8. กรณีคู่สัญญาใดเห็นว่า การได้รับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ยังไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้และมีเหตุผลอันสมควรให้หน่วยงานพิจารณาและหากเห็นสมควรขยายระยะเวลาก็ให้เสนอต่อคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุเพื่อพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

9. ให้ กวพ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีอำนาจหน้าที่ในการตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือดังกล่าว

10. เพื่อความเป็นธรรมในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการก่อสร้างและผู้ประกอบการอื่นของหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมแล้ว เห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และมีมติแจ้งเวียนให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ถือปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน

11. มอบให้ มท. นำมาตรการนี้ไปใช้บังคับในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย โดยอนุโลม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ