การให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 14:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานผลการดำเนินการการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมและการสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มเติม ดังนี้

1. การดำเนินการฟื้นฟู เยียวยานิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ขณะนี้มีโรงงานประกอบกิจการแล้ว 422 ราย คิดเป็นร้อยละ 49.47 ของโรงงานทั้งหมด 853 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

2. การดำเนินการฟื้นฟูโรงงานขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ขณะนี้มีโรงงาน สถานประกอบการอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ได้เปิดดำเนินการแล้ว 6,060 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.65 ของสถานประกอบการทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

3. มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ดังต่อไปนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

3.1 การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และวัตถุดิบที่นำมาทดแทนเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัตถุดิบนำเข้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 176 โครงการ มูลค่า 72,939 ล้านบาท

3.2 อนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 158 บริษัท จำนวนคนต่างชาติ รวม 614 คน

3.3 การอนุญาตให้ส่งออกเครื่องจักรและวัตถุดิบไปต่างประเทศ และการย้ายเครื่องจักรและวัตถุดิบไปต่างประเทศ หรืออยู่นอกโครงการเป็นการชั่วคราว สำหรับผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ประสบอุทกภัย โดยดำเนินการอนุญาตอย่างเร่งด่วนได้ภายในวันเดียวกับที่บริษัทยื่นเรื่อง ปัจจุบันได้อนุมัติไปแล้ว 325 โครงการ

3.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์หรือยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายทั้งในกรณีทำการผลิตชั่วคราวหรือลงทุนใหม่ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจในประเทศ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรียบร้อยแล้ว และออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 1/2555 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง มาตรการด้านภาษีอากร เพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย

4. โครงการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย

4.1 โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณจำนวน 47.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์สำหรับเป็นพื้นที่สำนักงานและโรงงานชั่วคราวสำหรับสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่ประสบอุทกภัย เพื่อการผลิต จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องจักรและซ่อมแซมเครื่องจักร และมีสถานที่ดำเนินการตั้งอยู่ ณ สำนักงานอำนวยการศูนย์พักพิง บริเวณตลาดโรงเกลือประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว รวม 133 ราย จากเป้าหมาย 100 ราย ประกอบด้วยสถานประกอบการอุตสาหกรรม 70 ราย และวิสาหกิจชุมชน 63 ราย และมีการใช้พื้นที่แล้ว 18,240 ตารางเมตร จากพื้นที่ 21,640 ตารางเมตร คงเหลือพื้นที่สามารถรองรับสถานประกอบการได้อีก 3,400 ตารางเมตร (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

4.2 โครงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และกากอุตสาหกรรมในสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ จำนวน 22 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในและนอกนิคม พร้อมส่งทีมวิศวกรออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ เพื่อดูแล ตรวจสอบ และแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งชนิดอันตรายและไม่อันตรายและแก้ไขการปนเปื้อนของสารพิษ สารเคมี เพื่อให้สถานประกอบการฟื้นคืนสู่การผลิตดังเดิม และเกิดความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชนบริเวณโดยรอบโรงงาน ซึ่งขณะนี้เก็บรวบรวมข้อมูลสถานประกอบการได้แล้ว 1,054 ราย หรือ ร้อยละ 52.7 ของโรงงานเป้าหมายทั้งหมด (2,000 โรงงาน) (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

4.3 โครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ดิน และการปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรมในสถานประกอบการทั้งภายในและภายนอกนิคม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดินและสารปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกนิคม ในพื้นที่ 14 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยมุ่งเน้นสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม/เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม ทั้ง 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัย โดยขณะนี้ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลแล้ว 389 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 32 ของตัวอย่างทั้งหมด (1,200 ตัวอย่าง) (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

5. ความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555)

5.1 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 728 ล้านบาท เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 14

5.2 สวนอุตสาหกรรมบางกะดี การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 8.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 272 ล้านบาท โดยมีแผนการก่อสร้างเริ่มวันที่ 2 มีนาคม 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555

5.3 เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 77.6 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 2,233 ล้านบาท ดำเนินการเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 30 กันยายน 2555

5.4 นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 13 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 500 ล้านบาท กำหนดดำเนินการวันที่ 1 มีนาคม 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555

5.5 สวนอุตสาหกรรมนวนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 700 ล้านบาท เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555

5.6 นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 13 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 400 ล้านบาท โดยมีแผนการก่อสร้างเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ