แนวทางการรับประกันภัยพิบัติภายใต้พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 13:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีมีมติดังนี้

1. เห็นชอบแนวทางการรับประกันภัยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้

2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

3. มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พิจารณาสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรง มีผลกระทบต่อประชาชนและทรัพย์สินในวงกว้าง แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีประกาศเป็นภัยพิบัติรุนแรงต่อไป

4. ให้กองทุนส่งเสริมการประกันภัยรับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติได้ประชุมรวมทั้งหมด 5 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2555 เพื่อพิจารณาแนวทางการรับประกันภัยพิบัติที่เหมาะสม สรุปได้ ดังนี้

1. วงเงินความคุ้มครองและอัตราเบี้ยประกันภัย

วงเงินความคุ้มครองและการจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ (sub limit) แบ่งตามประเภทของผู้เอาประกันภัยเป็น 3 ประเภท ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ดังนี้

(1) บ้านอยู่อาศัย วงเงินความคุ้มครองไม่เกิน 100,000 บาท คิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 0.5 ต่อปีของวงเงินความ คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ

(2) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หมายถึง ธุรกิจที่มีทุนประกันภัย ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ภัยพิบัติที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนประกันภัย คิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 1.0 ต่อปีของวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ

(3) อุตสาหกรรม หมายถึง ธุรกิจที่มีทุนประกันภัยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป จะจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ภัยพิบัติที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของทุนประกันภัย คิดอัตราเบี้ยประกันภัยที่ร้อยละ 1.25 ต่อปีของวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ

2. เกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของกรมธรรม์ภัยพิบัติ (Trigger)

กรมธรรม์ภัยพิบัติจะครอบคลุมประเภทภัยพิบัติรวม 3 ภัย ได้แก่ วาตภัย อุทกภัย และธรณีพิบัติภัย โดยจะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ เอาประกันภัย ที่เข้าลักษณะภัยพิบัติ ดังต่อไปนี้

(1) คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่นเดียวกับกรณีการให้เงินช่วยเหลือพิเศษ จำนวน 5,000 บาทต่อครัวเรือน เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 หรือ

(2) จำนวนค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายให้เป็นไปตามข้อมูลที่ได้รายงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ

(3) กรณีธรณีพิบัติ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือกรณีวาตภัย ความเร็วของลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

3. วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัยจะสำรวจและประเมินความเสียหาย โดยจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติในทุกกรณี ยกเว้นกรณีอุทกภัยในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากมีผู้เอาประกันภัยจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจะพิจารณาที่ระดับน้ำเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยหากน้ำท่วมพื้นอาคารจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ 30,000 บาท หากระดับน้ำสูง 50 เซ็นติเมตร 75 เซ็นติเมตรและ 100 เซ็นติเมตรจากพื้นอาคาร จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ 50,000 บาท 75,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ

กลุ่มผู้เอาประกันภัย   วงเงินความคุ้มครองตาม   การจ่ายค่าสินไหม    การจ่ายค่าสินไหมทดแทน    ความเสียหายส่วนแรกที่ผู้
                 กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ    ทดแทนกรณีอุทกภัย    กรณีวาตภัยและธรณีพิบัติภัย   เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ
                                                                             (Deductible)
บ้านอยู่อาศัย        ไม่เกิน100,000 บาท     น้ำท่วมพื้นอาคาร :   บริษัทประกันภัยสำรวจและ   ไม่มี
                                      30,000 บาทระดับ   ประเมินความเสียหาย
                                      น้ำสูง 50 ซม.      โดยจ่ายค่าสินไหม
                                      จากพื้น            ทดแทนตามความ
                                      อาคาร : 50,000   เสียหายที่เกิดขึ้นจริง
                                      บาทระดับน้ำสูง 75   แต่ไม่เกินวงเงินความ
                                      ซม.จากพื้นอาคาร:   คุ้มครองตามกรมธรรม์
                                      75,000 บาท       ประกันภัยพิบัติ
                                      ระดับน้ำสูง 100
                                      ซม. จากพื้นอาคาร:
                                      100,000 บาท
SMEs และ      ร้อยละ30ของทุนประกันภัย    บริษัทประกันภัย       บริษัทประกันภัยสำรวจ      ร้อยละ 5 ของ
อุตสาหกรรม                            สำรวจและประเมิน    และประเมินความ         วงเงินความคุ้มครอง
                                     ความเสียหาย โดย    เสียหายโดยจ่ายค่า        ตามกรมธรรม์
                                     จ่ายค่าสินไหม        สินไหมทดแทนตาม         ประกันภัยพิบัติ
                                     ทดแทนตามความเสีย   ความเสียหายที่
                                     หายที่เกิดขึ้นจริงแต่    เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกิน
                                     ไม่เกินวงเงินความ    วงเงินความคุ้มครองตาม
                                     คุ้มครองตามกรมธรรม์  กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
                                     ประกันภัยพิบัติ

4. ประมาณการวงเงินความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ

การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยต่อปีที่ระดับร้อยละ 0.5 ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 1.25 ของวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ภัยพิบัติ สำหรับบ้านอยู่อาศัย SMEs และอุตสาหกรรมตามลำดับ คาดว่า จะมีความต้องการเอาประกันภัยพิบัติเฉลี่ยที่ร้อยละ 90.45 ของจำนวนกรมธรรม์ทั้งหมดในปัจจุบัน โดยในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยจำนวน 1.3 ล้านกรมธรรม์ในปัจจุบัน คาดว่าจะมีความต้องการเอาประกันภัยพิบัติทั้งหมด ในขณะที่กลุ่ม SMEs และอุตสาหกรรม อีกประมาณ 245,000 กรมธรรม์ คาดว่าร้อยละ 90 จะมีความต้องการเอาประกันภัยพิบัติ ดังนั้น ประมาณการวงเงินความคุ้มครองรวมของกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจะอยู่ที่ระดับ 2,598,486 ล้านบาท

ประเภท          จำนวนกรมธรรม์    ทุนประกัน     ความคุ้มครองสูงสุด      เอาประกันภัยพิบัติ       ประมาณการวงเงินความ
ผู้เอาประกันภัย        (ราย)       (ล้านบาท)       (ล้านบาท)     (ร้อยละของจำนวนกรมธรรม์)  คุ้มครองตามกรมธรรม์ภัย
                                                                                      พิบัติ (ล้านบาท)
1. บ้านอยู่อาศัย      1,300,000      -            130,000              100                  130,000
2. SMEs             229,338    1,124,595      337,379               90                  303,641
3. อุตสาหกรรม         15,637    8,017,943    2,405,383               90                2,164,845
ทุนประกันภัย            13,179    1,999,133      599,740               90                  539,766
50 — 500
ล้านบาท
ทุนประกันภัย             1,377    2,040,910      612,273               90                  551,046
500 — 1,000
ล้านบาท
ทุนประกันภัย  1,000      1,081    3,977,900    1,193,370               90                1,074,033
ล้านบาทขึ้นไป
รวม(1+2+3)        1,544,975    9,142,538    2,872,762            90.45                2,598,486

5. ค่าสินไหมทดแทนที่อาจเป็นไปได้สูงสุด

ค่าสินไหมทดแทนที่อาจเป็นไปได้สูงสุด (Probable Maximum Loss: PML) เป็นวิธีการที่ธุรกิจประกันภัยใช้ในการบริหารความเสี่ยง โดยจะพิจารณาจากความเสียหายในอดีตและโอกาสที่จะเกิดความเสียหายในอนาคตเป็นหลัก เพราะในความเป็นจริงเป็นไปได้ยากที่ค่าสินไหมทดแทนจะเท่ากับวงเงินความคุ้มครอง

PML ที่เหมาะสมสำหรับกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติในการบริหารความเสี่ยงควรอยู่ที่ระดับ 300,000 ล้านบาท เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ประมาณการความเสียหายอยู่ที่ 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายต่อระบบประกันภัยที่สูงที่สุด สูงกว่ากรณีธรณีพิบัติภัย (สึนามิ) เมื่อปี 2547 ที่มีความเสียหายเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ความเสียหายส่วนใหญ่ของอุทกภัย ในปี 2554 อยู่ที่ภาคอุตสาหกรรมใน 7 นิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีแนวทางที่ชัดเจนในการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ และการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกัน 7 นิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ความเสี่ยงจากอุทกภัยลดลงอย่างมาก PML ที่ระดับ 300,000 ล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะครอบคลุมทั้งภัยพิบัติจากอุทกภัย ธรณีพิบัติภัย และวาตภัย ซึ่งทั้ง 2 ภัยหลังเป็นภัยพิบัติที่มีสถิติความเสียหายในประเทศไทยน้อยมาก ทั้งนี้ กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติจะได้พิจารณาการบริหารความเสี่ยงโดยการทำประกันภัยต่อ (reinsurance) ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป

6. ความเสี่ยงของรัฐบาล

             กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมีวงเงินในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติจำนวน 50,000                    ล้านบาท สามารถบริหารจัดการเพื่อรองรับความเสียหายสูงสุดที่ 300,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการความต้องการเอาประกันภัยพิบัติ หรือวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติที่ 2,598,486 ล้านบาท ถือว่ากองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาถึงนโยบายและการดำเนินการของรัฐบาล ตามข้อมูลที่กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติรับทราบในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม หากเกิดภัยพิบัติที่ไม่คาดคิด ทำให้ความเสียหายสูงกว่า 300,000 ล้านบาท ซึ่งเกินกว่าความสามารถของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติในการบริหารจัดการความเสียหาย ในส่วนนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาดูแลรับผิดชอบ โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีความเสี่ยงสูงสุดที่ 2,298,486 ล้านบาท

                           รายการ                                        จำนวนเงิน
                    ความคุ้มครองสูงสุด                                   2,872,762 ล้านบาท
                    สัดส่วนการเอาประกันภัยพิบัติ (ร้อยละ)                    90.5

ประมาณการวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ 2,598,486 ล้านบาท

                    การบริหารความเสี่ยงสำหรับ PML                        300,000 ล้านบาท

อนึ่ง เนื่องจากกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติมีฐานะเป็นนิติบุคคล มิได้มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองในกรณีความรับผิดทางละเมิด จึงเห็นควรตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 (ฉบับที่ ..) พ.ศ....

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ