รายงานสรุปสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยและผลการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 14:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยและผลการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอดังนี้

สืบเนื่องจากตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 เป็นต้นมา พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยมีสภาพหมอกควันปกคลุมหนาแน่นเป็นบริเวณกว้าง สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในที่โล่ง ทั้งการเผาขยะมูลฝอยในพื้นที่ชุมชน การเผาเศษวัสดุการเกษตร เช่น ตอซัง ฟางข้าว เพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร และไฟป่า ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศพบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกจังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และตาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เสนอเรื่องสถานการณ์และมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เป็นวาระเร่งด่วนเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555

ในการนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอรายงานสรุปสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เพิ่มเติมถึงวันที่ 5 มีนาคม 2555 ดังนี้

1. ผลการติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และตาก พบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานติดต่อกันหลายวัน (มาตรฐานฝุ่นละอองขนาดเล็กในบรรยากาศ ต้องไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงต้นเดือนมีนาคม 2555

2. ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ณ เวลา 09.00 น. ของจังหวัดในภาคเหนือ และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2555 สรุปได้ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 แสดงค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด ของฝุ่นละอองขนาดเล็ก และจำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

              จังหวัด       ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด     วันที่ตรวจพบค่าสูงสุด        จำนวนวันที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน

(มคก./ลบ.ม.)

          เชียงใหม่                197              1 มีนาคม 2555                   6
          ลำพูน                   275              26 กุมภาพันธ์ 2555               14
          เชียงราย                357              3 มีนาคม 2555                  16
          แม่ฮ่องสอน               236              3 มีนาคม 2555                   8
          ลำปาง                  279              26 กุมภาพันธ์ 2555               17
          พะเยา                  279              27 กุมภาพันธ์ 2555               16
          น่าน                    199              27 กุมภาพันธ์ 2555                8
          แพร่                    233              25 กุมภาพันธ์ 2555               15
          ตาก                    295              1 มีนาคม 2555                   2

หมายเหตุ: เป็นข้อมูลสรุปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 5 มีนาคม 2555 ยกเว้นจังหวัดตากที่ตรวจวัดโดยหน่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเคลื่อนที่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555

3. ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ — 3 มีนาคม 2555 โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายที่พบค่าสูงสุดสูงถึง 356.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 3 มีนาคม 2555 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานเกือบ 3 เท่า และอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมาก

4. ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแนวโน้มลดลงในวันที่ 5 มีนาคม 2555 โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กลดต่ำลงจนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม จังหวัดเชียงรายยังคงเป็นจังหวัดที่พบฝุ่นละอองขนาดเล็กสูงสุด ตรวจวัดได้ 258.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

5. ข้อมูลสรุปจำนวนครั้งที่ดับไฟป่าและพื้นที่ถูกไฟไหม้ในภาคเหนือในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2554 — 3 มีนาคม 2555 แสดงดังตารางที่ 2 โดยในปี 2555 มีการเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นจากปี 2554 จำนวน 520 ครั้ง พื้นที่ถูกไฟไหม้เพิ่มขึ้น 3,931 ไร่

ตารางที่ 2 แสดงจำนวนครั้งของการดับไฟป่า และพื้นที่ถูกไฟไหม้ ในพื้นที่ภาคเหนือ

                  จังหวัด                  ดับไฟป่า (ครั้ง)             พื้นที่ถูกไฟไหม้ (จุด)
          เชียงราย                            83                        423
          เชียงใหม่                           439                      2,791
          ลำพูน                              172                      1,245
          ลำปาง                             104                        662
          แพร่                                72                        679
          น่าน                                17                        233
          พะเยา                              33                        155
          แม่ฮ่องสอน                           35                        200
          ตาก                                94                        739
          รวม 9 จังหวัด                     1,049                      7,127

6. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาหมอกควันจากไฟป่าและการเผาในพื้นที่โล่งในภาคเหนือ ในวันที่ 5 มีนาคม 2555 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมป่าไม้ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเผาในที่โล่งและมลพิษหมอกควัน เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานดำเนินการอย่างเข้มข้นในพื้นที่ ดังนี้

6.1 เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง เช่น ประกาศข้อบัญญัติท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หมวด 5 เหตุรำคาญ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในการควบคุมการเผาริมทาง ออกประกาศจังหวัดกำหนดเขตพื้นที่ควบคุมไฟป่าและการเผาในพื้นที่โล่ง บังคับใช้กฎระเบียบชุมชน เป็นต้น

6.2 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ติดตามและควบคุมการเผาในพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และให้มีการรายงานผลการดำเนินงานเป็นระยะ ๆ พร้อมให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้มงวดในการควบคุมดูแลการเกิดไฟและควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคุมดูแลการเผาในพื้นที่เกษตร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุมการเผาในพื้นที่ชุมชน

6.3 เร่งรัดดำเนินการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่า โดยให้เป็นภารกิจบังคับสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการระดมกำลังพลหน่วยดับไฟป่าและเครือข่ายเพื่อปฏิบัติการในช่วงวิกฤติหมอกควัน

6.4 ประสานสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาจัดทำฝนหลวงเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงของปัญหามลพิษหมอกควัน

6.5 มอบหมายให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการจัดระเบียบการเผาในพื้นที่เกษตรเฉพาะที่จำเป็น โดยมีระบบการอนุญาตและการควบคุมให้เผาในปริมาณและในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อปัญหามลพิษหมอกควัน

6.6 แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนอย่างใกล้ชิด เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การหลีกเลี่ยงหรืองดกิจกรรมในพื้นที่โล่ง เป็นต้น

6.7 ให้จังหวัดติดตามสถานการณ์มลพิษหมอกควัน จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ และจำนวนจุดความร้อนจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการควบคุมและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ

6.8 ให้จังหวัดแจ้งผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ให้ประชาสัมพันธ์ประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ แจ้งเหตุไฟป่าผ่านสายด่วน (hotline) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หมายเลข “1362” หรือศูนย์ประสานงานของจังหวัด เพื่อให้เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครสามารถเข้าไปดับไฟป่าในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

6.9 ดำเนินโครงการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เชิงรุก ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดผลด้านความตระหนักและเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการลดการเผาในพื้นที่โล่ง

6.10 บูรณาการการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัดอย่างครบวงจร ทั้งในด้านการเกษตร (ส่งเสริมการเกษตรปลอดการเผาหรือการผลิตปุ๋ยชีวภาพ) การส่งเสริมพลังงานชีวมวล (ส่งเสริมการนำเศษวัสดุมาทำเป็นแท่งเชื้อเพลิงชีวมวล) การอนุรักษ์พื้นที่ป่าและสร้างฝายชะลอน้ำหรือป่าเปียกตามแนวพระราชดำริ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ