การบริจาคเงินเพิ่มทุนกองทุนพัฒนาเอเชีย (ADF) ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 14:34 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทั้ง 3 ข้อ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้เข้าร่วมการบริจาคเพิ่มทุนกองทุนพัฒนาเอเชีย [Asian Development Fund (ADF)] ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI

2. เห็นชอบให้บริจาคเงินในวงเงินไม่เกิน 160 ล้านบาท และให้คงสัดส่วนการบริจาคส่วนบริจาคพื้นฐานไม่ต่ำกว่าการเพิ่มทุนกองทุน ADF ครั้งที่ 9 ของกองทุน ADF X

3. เห็นชอบ Instrument of Contribution หรือ Promissory Note ของการบริจาคเงินเพิ่มทุนกองทุน ADF ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กค. รายงานว่า

1. ADF เป็นกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ADB จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนแก่ประเทศสมาชิก ADB ที่มีฐานะยากจนในรูปแบบเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย แต่คิดค่าการบริหารเงิน (Service Charge) ในอัตราร้อยละ 1-1.5 ต่อปี ระยะเวลาการชำระหนี้คืนประมาณ 15-40 ปี โดยแหล่งเงินทุนของกองทุนฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเงินบริจาคของประเทศสมาชิก ADB ที่มีทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา และประเทศไทยได้เข้าร่วมบริจาคในกองทุน ADF มาแล้วจำนวน 4 ครั้ง (ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 เมษายน 2540, 19 มิถุนายน 2544, 14 พฤษภาคม 2545, 28 ธันวาคม 2547 และ 26 สิงหาคม 2551)

2. กค. ได้เข้าร่วมประชุมการบริจาคเงินเพิ่มทุนกองทุน ADF ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI จำนวน 2 รอบ ซึ่งในที่ประชุมฯ ทั้ง 2 รอบได้กำหนดบทบาทและมีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับการบริจาคเงินเพิ่มทุนกองทุน ADF XI ที่จะดำเนินการในช่วงระหว่างปี 2556-2559 สรุปได้ดังนี้

2.1 วาระการพัฒนาในภาพรวม : ให้มุ่งเน้นการลดปัญหาความยากจนในภูมิภาคโดยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเบ็ดเสร็จ (Inclusive Economic Growth) การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmentally Sustainable Growth) และการรวมตัวของภูมิภาค (Regional Integration)

2.2 ภาคสาขาหลักในการพัฒนา : ให้มุ่งเน้นการพัฒนาด้านพลังงาน คมนาคม การศึกษา การพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินและภาคเอกชน การสร้างเสริมธรรมาภิบาล และการพัฒนาขีดความสามารถ (Capacity Building) ของสถาบันในสาขาต่าง ๆ

2.3 ประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาเป็นพิเศษ (Special Considerations) : ให้ความสำคัญกับประเด็นความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย (Gender) การช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้ง [Fragile and Conflict-affected Situation (FCAS)] และความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) โดยที่ประชุมฯ ได้หารือแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและการช่วยเหลือประเทศที่ประสบปัญหาความขัดแย้ง

2.4 การจัดสรรผลการดำเนินงาน [Performance-Based Allocation (PBA)] สำหรับกองทุน ADF XI : PBS คือ กลไกการจัดสรรแหล่งเงินจากกองทุน ADF ให้กับประเทศสมาชิกที่มีสิทธิ์ โดยการจัดสรรจะพิจารณาจากผลการดำเนินงานของแต่ละประเทศ [Country Performance Assessment (CPA)] โดยจะ

2.4.1 คงสัดส่วนการให้เงินช่วยเหลือของกองทุน ADF XI อยู่ที่ร้อยละ 4.5 สำหรับกลุ่มประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก และร้อยละ 10 สำหรับโครงการระดับภูมิภาค

2.4.2 เร่งลดระยะเวลาให้เงินช่วยเหลือกับประเทศติมอร์-เลสเต โดยให้สิ้นสุด ในปี 2555 จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 2557 เนื่องจากประเทศติมอร์-เลสเต มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะต้องพึ่งพารับความช่วยเหลือจากกองทุน ADF น้อยลง

2.4.3 ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือกับประเทศอัฟกานิสถานไปจนถึงปี 2561

3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการประชุมเจรจาการเพิ่มทุน ADF ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI ทั้ง 2 รอบที่ผ่านมา เห็นว่ากองทุนฯ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาที่ประสบปัญหาความยากจนเพื่อนำไปพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศดังกล่าว ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและในการประชุมเจรจาฯ ในรอบที่ 3 จะเป็นการประชุมที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการประชุมรอบสุดท้ายเพื่อสรุปประเด็นเกี่ยวกับสัดส่วนการเพิ่มทุนของแต่ละประเทศและการจัดสรรทรัพยากรจากการบริจาคมาใช้เพื่อการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ดังนั้น ในการประชุมเจรจาการเพิ่มทุน ADF ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI รอบ 3 ในระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2555 ณ สำนักงานใหญ่ ADB กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ กค. เห็นควรเสนอท่าทีที่เกี่ยวข้องกับการบริจาคเงินเพิ่มทุนฯ ดังนี้

3.1 เห็นควรคงการสนับสนุนการบริจาคเพิ่มทุนกองทุน ADF ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 160,000,000 บาท เพื่อให้คงสัดส่วนเพิ่มทุนในกองทุน ADF ครั้งที่ 10 ของกองทุน ADF XI ของไทยอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 0.08 ของกองทุนทั้งหมด เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่มีความยากจน และการบริจาคเงินในกองทุน ADF เป็นการบริจาคเงินแหล่งเดียวที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นผู้บริจาคได้แสดงให้ประเทศอื่น ๆ เห็นถึงบทบาทความเป็นผู้ให้ของประเทศไทยต่อประเทศยากจนในเวทีระหว่างประเทศมาโดยตลอด นอกจากนี้ การเข้าร่วมการเพิ่มทุนกองทุน ADF XI จะเป็นส่วนช่วยสำคัญต่อประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง [Greater Mekong Subregion (GMS)] เช่น ลาว กัมพูชา และพม่า โดยประเทศไทยจะมีบทบาทในการผลักดันให้ ADB เพิ่มความสำคัญให้แก่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวด้วย

3.2 การบริจาคเงินเพิ่มทุนในครั้งนี้เป็นเงินสกุลบาท โดยการชำระเงินบริจาคจะดำเนินการโดย กค. จะเป็นผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินคลัง (Promissory Notes) ประเภทจ่ายเงินเมื่อทวงถามและไม่มีดอกเบี้ยแก่ ADB และมีระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบริจาคจากตั๋วสัญญาใช้เงินคลังดังกล่าว 9 ปี ซึ่งการชำระเงินจริงจะเกิดขึ้นเมื่อมีการบริจาคเงินจากกองทุนฯ ไปให้ประเทศสมาชิกกู้ต่อ ADB จึงจะนำตั๋วสัญญาใช้เงินคลังดังกล่าวมาขอขึ้นเงินสด ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่องบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีระยะเวลาการเบิกจ่ายยาวนาน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--


แท็ก เอเชีย   asian  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ