ขอความเห็นชอบโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 8, 2012 14:38 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอความเห็นชอบโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

(Industrial Energy Efficiency : IEE)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทั้ง 2 ข้อ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ ดังนี้

1. ให้ อก. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกระทรวงพลังงาน (พน.) ดำเนินโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ (Industrial Energy Efficiency : IEE) ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

2. ให้ปลัด อก. ลงนามหนังสือตอบรับการเข้าร่วมดำเนินโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย (Industrial Energy Efficiency : IEE) ร่วมกับองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO)

ทั้งนี้ ให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

1. อก. โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน พน. และองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ร่วมจัดทำความร่วมมือทางด้านวิชาการภายใต้โครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ (Industrial Energy Efficiency : IEE) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management Standard System) ในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงานที่จำเป็นสำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต

2. อก. ในฐานะหน่วยประสานงานโครงการ ได้ร่วมกับ UNIDO จัดทำร่างข้อเสนอโครงการ IEE ฉบับสมบูรณ์ (The project document) เสนอให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environmental Facility : GEF) พิจารณา และ GEF ได้ตอบรับที่จะให้การสนับสนุนข้อเสนอโครงการ IEE ดังกล่าว เป็นระยะเวลา 5 ปี ในรูปเงินสด (In cash) เป็นจำนวนเงิน 3.620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย อก. พน. และธนาคารพาณิชย์ จะสนับสนุนงบประมาณที่อยู่ในรูปเงินสด (In cash) และที่ไม่อยู่ในรูปของเงินสด (In kind) เป็นจำนวนเงิน 15.645 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางกับกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกในประเทศไทย (GEF Operational Focal Point) มีอำนาจในการพิจารณาให้การรับรองข้อเสนอโครงการที่ขอรับการสนับสนุนจาก GEF ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2549 ได้รับรองโครงการ IEE ตามหนังสือ ทส. ที่ 0204/1604 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2551

4. โครงการ IEE ดำเนินงานภายใต้แนวทางการบริหารโครงการระดับประเทศของ UNIDO ในการใช้งบประมาณและการบริหารโครงการให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ผลสัมฤทธิ์ และแผนงาน โดยจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับและดูแลโครงการตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management Standard System) ในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (Standard of Energy Management System) สำหรับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต รวมทั้งช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากข้อกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีในการค้า (Non — Tariff Barrier) ที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญในอนาคตอันใกล้นี้ อีกทั้งประเทศไทยในฐานะของประเทศที่มีศักยภาพเป็นผู้นำในกลุ่ม ASEAN สามารถที่จะเป็นแกนกลางสำหรับการรณรงค์กระตุ้นให้เกิดการสร้างมาตรฐานระบบการจัดการพลังงานซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันในกลุ่ม ASEAN โครงการ IEE มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่

4.1 ระบบการจัดการพลังงานที่สอดคล้องกับระบบมาตรฐานการจัดการพลังงานหรือ ISO 50001 (ISO compliant energy management system)

4.2 การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม (Industrial energy system optimization) เน้นกิจกรรมด้านการฝึกอบรม และประยุกต์ใช้ระบบที่มีประสิทธิผลสูงสุดในอุปกรณ์จำพวกหม้อน้ำ เครื่องอัดอากาศ พัดลม และปั๊ม

4.3 การเพิ่มขีดความสามารถในการสนับสนุนด้านการเงินสำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุตสาหกรรม (Enhancement of industrial EE financing capacity) เน้นด้านการให้สถานประกอบการกู้ยืมเงิน (จากเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน) ร่วมกับสถาบันการเงิน

4.4 การดำเนินโครงการระบบการจัดการด้านพลังงานและการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการใช้พลังงาน (Implementation of energy management and systems optimization project) เน้นด้านการนำการประเมินระบบและมาตรฐานการจัดการพลังงานไปประยุกต์ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

4.5 การบริหารโครงการ

4.5.1 โครงการ IEE ได้มีการคัดเลือกประเภทอุตสาหกรรมการผลิตไว้ 6 ประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (Food & beverage) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (Textiles) อุตสาหกรรมเคมี (Chemicals) อุตสาหกรรมพลาสติกและยาง (Plastic & rubber) อุตสาหกรรมอโลหะ (Non - metallic) และอุตสาหกรรมโลหะมูลฐาน (Basic metal)

4.5.2 โครงการ IEE จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและดูแลโครงการ (Project Steering Committee) โดยมีอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อก. เป็นประธาน และมีคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

4.5.3 การดำเนินโครงการ IEE จะก่อให้เกิดผลผลิตที่สำคัญ ดังนี้

(1) เอกสารประกอบการฝึกอบรมและเครื่องมือในการบริหารจัดการพลังงาน (ISO 50001) และการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบการใช้พลังงาน

(2) รณรงค์ให้โรงงานอุตสาหกรรมตระหนักเกี่ยวกับระบบ ISO 50001

(3) ผู้เชี่ยวชาญไทยจำนวน 50 คน และเจ้าหน้าที่โรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 300 คน ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร ระบบการบริหารจัดการพลังงาน

(4) ผู้เชี่ยวชาญไทยจำนวน 50 คน และเจ้าหน้าที่โรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 250 คน ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการใช้พลังงาน

(5) เกิดเครือข่ายด้านพลังงานสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม

(6) ธนาคารและสถาบันการเงินมีขีดความสามารถในการพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น

(7) โรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 50 แห่ง มีการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับระบบ ISO 50001

(8) โรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 50 แห่ง มีการดำเนินงานในการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการใช้พลังงาน

4.5.4 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการเป็นเงินทุนร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ในรูปเงินสด (In cash) 3.620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย อก. พน. และธนาคารพาณิชย์สนับสนุนงบประมาณที่อยู่ในรูปเงินสด (In cash) และที่ไม่อยู่ในรูปของเงินสด (In kind) เป็นจำนวนเงิน 15.645 ล้านดอลลาร์สหรัฐประกอบด้วย

(1) เงินสนับสนุนจาก GEF ภายใต้แนวทางการบริหารโครงการระดับประเทศของ UNIDO ในการใช้งบประมาณและการบริหารโครงการจำนวน 3.620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(2) อก. สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด (In kind) จำนวน 2.445 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(3) พน. โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด จำนวน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นเงินกู้ผ่านสถาบันการเงิน จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(4) สถาบันการเงิน จำนวน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนี้

  • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย สนับสนุนเงินกู้ จำนวน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย สนับสนุนเงินกู้ จำนวน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ