ยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2555-2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 14, 2012 10:59 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2555-2559 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า

1. คณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศและมีมติมอบหมายให้คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ไปปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศอีกครั้ง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

2. คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2554 ซึ่งมีเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นประธาน ประกอบด้วยหน่วยงานภายใน กษ. รวมถึงผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ร่วมกันปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบายฯ

3. ยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศฯ มีสาระสำคัญดังนี้

3.1 วิสัยทัศน์ สร้างความเชื่อมั่นผลิตผลเกษตรและอาหารของไทย การเกษตรต่างประเทศกว้างไกลในสากล ประสิทธิผลยั่งยืน

3.2 เป้าประสงค์

3.2.1 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผลิตผลเกษตรและอาหารของไทยโดยการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการเจรจา การนำเสนอ และการสนับสนุนข้อมูลด้านเทคนิค

                 3.2.2 เพื่อพัฒนาศักยภาพการตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช คุณภาพและมาตรฐาน และปัญหาด้านเทคนิค สำหรับสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในตลาดต่างประเทศ ทั้งในตลาดเดิมและ              ตลาดใหม่

3.2.3 เพื่อให้ได้ข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ เกี่ยวกับ นโยบาย มาตรการด้านการเกษตรของต่างประเทศ รวมทั้งด้านการผลิต การค้า การลงทุน และกฎระเบียบระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร สำหรับเตรียมมาตรการชิงรุกและเชิงรับอย่างมีประสิทธิภาพ

3.2.4 เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตรกับต่างประเทศภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ

3.2.5 เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเกษตรต่างประเทศของ กษ. ให้มีประสิทธิภาพ

3.3 ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2555 - 2559)

3.4 ประเด็นยุทธศาสตร์

3.4.1 ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพกระบวนการเจรจา การนำเสนอ และแก้ปัญหาภาคเกษตรกับต่างประเทศ มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่

(1) เตรียมความพร้อมสำหรับกระบวนการเจรจาเกี่ยวกับมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และการแก้ปัญหาด้านเทคนิคของสินค้าเกษตรและอาหารในเวทีระหว่างประเทศ

(2) พัฒนากลไกการตอบสนองเพื่อแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วในกรณีที่ผลิตผลเกษตรและอาหารไทยมีปัญหาด้านคุณภาพในตลาดปลายทาง

(3) ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ

3.4.2 ยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพด้านข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรต่างประเทศ มี 4 กลยุทธ์ ได้แก่

(1) ส่งเสริมการประสานงานเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดต่างประเทศ และการลงทุนภาคเกษตรจากต่างประเทศ รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

(2) ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลด้านความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดต่างประเทศ ทั้งปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

(3) จัดระบบฐานข้อมูลสำหรับสนับสนุนงานด้านการเกษตรต่างประเทศ

(4) ติดตามความเคลื่อนไหว ผลักดันและสนับสนุนการกำหนดมาตรการ และการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อแสดงจุดยืนและท่าทีของประเทศไทย ในการกำหนดกฎเกณฑ์ระดับนานาชาติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร

3.4.3 ยุทธศาสตร์พัฒนาความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่

(1) พัฒนาความร่วมมือในลักษณะความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศผู้ให้และองค์การระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรให้แก่ภูมิภาคต่าง ๆ

(2) ส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับต่างประเทศ

(3) ส่งเสริมให้มีการจัดทำและดำเนินแผนงาน/โครงการตามความตกลงกับต่างประเทศ

3.4.4 ยุทธศาสตร์พัฒนาการบริหารจัดการด้านการเกษตรต่างประเทศของ กษ. มี 3 กลยุทธ์ ได้แก่

(1) สนับสนุนการปรับปรุงองค์กรและการบริหารงานของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการเกษตรต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการขยายตัวด้านการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่

(2) สร้างเสริมสมรรถนะที่สำคัญในการขับเคลื่อนและติดตามงานด้านการเกษตรต่างประเทศอย่างเป็นระบบ

(3) สนับสนุนการสร้างกลไกภาครัฐในการขับเคลื่อนและติดตามงานด้านการเกษตรต่างประเทศอย่างเป็นระบบ

4. ยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศของ กษ. ปี พ.ศ. 2555 — 2559 มีความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ทั้งในส่วนของนโยบายเร่งด่วน (ข้อ 1.6) นโยบายที่ 3 นโยบายเศรษฐกิจ (ข้อ 3.2 นโยบายสร้างรายได้ และข้อ 3.3 นโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ - ภาคเกษตร) และนโยบายที่ 7 นโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งยุทธศาสตร์การเกษตรต่างประเทศจะมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานด้านการต่างประเทศของ กษ. เป็นเอกภาพ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเกิดการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ อันจะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเกษตรของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ