การติดตามประเมินผลโครงการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 14, 2012 11:05 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การติดตามประเมินผลโครงการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ปีงบประมาณ

พ.ศ. 2554-2555 และโครงการป้องกันปัญหาอุทกภัยต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในวงเงิน 30,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาติดตามประเมินผลโครงการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งโครงการป้องกันปัญหาอุทกภัยต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีรับความเห็นและข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ทั้งนี้ ในการดำเนินการติดตามประเมินผลโครงการดังกล่าวให้กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกับการดำนินการของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ด้วย

สาระสำคัญ

สปน. รายงานว่า

1. จากการลงพื้นที่ตรวจติดตามการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวง พบว่า

1) หน่วยปฏิบัติในหลายพื้นที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินโครงการ ส่งผลให้การดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ ของหลายหน่วยงานในแต่ละพื้นที่ ไม่เป็นไปตามแผนงานและระยะเวลาที่กำหนด เกิดความล่าช้า และมีความเสี่ยงต่อการเตรียมการรับมือต่ออุทกภัยและสถานการณ์น้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2555

2) การจัดเก็บข้อมูลโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ตลอดจนการรายงานข้อมูลในพื้นที่เข้าสู่ส่วนกลางเพื่อให้ฝ่ายบริหารประกอบการตัดสินใจและบริหารจัดการพื้นที่ในภาวะอุทกภัยยังไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ประกอบกับระบบการรายงานผลที่หน่วยงานส่วนกลางได้ร่วมกันพัฒนาเพื่อให้หน่วยปฏิบัติทั้งหน่วยงานระดับกระทรวง กรม ตลอดจนหน่วยงานในระดับจังหวัดรายงานผลความก้าวหน้าในการดำเนินการเข้าสู่ส่วนกลางก็สามารถดำเนินการได้เพียงบางส่วนเท่านั้น ทำให้การรายงานผลการติดตามการดำเนินการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา และการป้องกันปัญหาอุทกภัยต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวง ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะตรวจติดตามและรายงานผลการตรวจติดตามเสนอคณะรัฐมนตรีได้อย่างครบถ้วนตามที่ได้รับมอบหมาย

2. โดยที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้เร่งรัดให้การดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย และโครงการป้องกันปัญหาอุทกภัยต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้แล้วเสร็จโดยด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ จึงควรจะต้องมีการเร่งรัด ติดตามผลการดำเนินการโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ในทุกพื้นที่ คู่ขนานไปกับการพัฒนาระบบการรายงานผลของหน่วยงานส่วนกลาง เพื่อนำข้อมูลความคืบหน้าการดำเนินโครงการ ตลอดจนข้อจำกัดหรือปัญหาและอุปสรรคในแต่ละโครงการและในแต่ละพื้นที่รายงานให้กับคณะผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวงทราบ เพื่อให้ผู้ตรวจราชการได้ลงพื้นที่ติดตามและร่วมกัน แก้ไขปัญหา อุปสรรค เพื่อให้การดำเนินการโครงการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดและนำความคืบหน้ากลับมารายงานต่อฝ่ายบริหาร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและบริหารจัดการเตรียมการรองรับปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้อย่างทันการณ์

3. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการจัดจ้างที่ปรึกษา ที่เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อติดตามและรายงานความคืบหน้าของโครงการว่าเป็นไปตามแผนงานและเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ และรายงานปัญหา อุปสรรคหรือข้อจำกัดในพื้นที่ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการของทุกโครงการ ทุกพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลรายงานให้ผู้ตรวจราชการได้ “เร่งรัด กำกับ ติดตาม” หรือร่วมกันแก้ไขปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในแต่ละพื้นที่ร่วมกัน เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จทันต่อสถานการณ์อุทกภัยที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามรายงานผลการศึกษาของนักวิชาการที่คาดการณ์ โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งบางโครงการจะต้องแล้วเสร็จในระยะเวลาอันใกล้นี้ อีกทั้งยังต้องสอบทานเทคนิคทางวิศวกรรมรายโครงการโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวนั้นจะสามารถรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยได้ โดยผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวงจะมีบทบาททั้งในเชิง “หัวหน้าคณะวิศวกรควบคุมโครงการ” และมี “บทบาทในการรายงาน นำเสนอ ความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัดในพื้นที่ของโครงการในเขตที่รับผิดชอบเสนอต่อฝ่ายบริหาร เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาทั้งในระดับปฏิบัติและระดับนโยบาย และหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว”

4. ในการจ้างที่ปรึกษา ที่เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเห็นควรให้มีการรายงานผลที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูลเชื่อมโยงผ่านระบบ www.pmocflood.com/fr โดยที่ปรึกษา ที่เป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่มีโครงการ จะทำการตรวจติดตามโครงการ ซึ่งแบ่งโครงการออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โครงการด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน และกรณีเร่งด่วนอื่น ๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ