การแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 14, 2012 11:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอดังนี้

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์หมอกควันอย่างรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 15 (จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) และเขตตรวจราชการที่ 16 (จังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน) ลงพื้นที่เพื่อกำกับดูแลแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ป่าไม้พื้นที่ภาคเหนือตอนบน นั้น

ในการนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) ได้ประชุมติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งมอบนโยบายเพื่อเร่งรัด ให้มีการแก้ไขปัญหาหมอกควันให้ลดลงโดยเร็วในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 6 — 7, 10 และ 12 มีนาคม 2555 ตามลำดับ โดยได้จัดกิจกรรมรณรงค์ลดปัญหาหมอกควัน “หยุดเผาเพื่อลมหายใจ” (NO BURN) ในทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนดังนี้

1. ให้ทุกจังหวัดจัดให้มีแผนปฏิบัติการ 3 วัน กล่าวคือ

วันที่ 1 จัดประชุมชี้แจงผู้นำท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนชุมชน เพื่อประกาศการบังคับใช้กฎหมายปรับ 150,000 บาท โทษจำคุก 15 ปี

วันที่ 2 จัดเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป่าไม้ และมวลชน สำรวจพื้นที่และจัดเวรยามตรึงกำลังในพื้นที่เสี่ยง

วันที่ 3 ใช้แผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตรวจสอบ จุดเผาไหม้และติดตามผล

2. แก้ไขปัญหาการเผาวัชพืช ในแปลงเกษตรเพื่อเป็นปุ๋ย โดยให้จังหวัดจัดหาจุลินทรีย์ เพื่อย่อยสลายใบไม้ ฟางและเศษพืชแทน

3. จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมการปลูกพืช ยืนต้นเช่น ยางพารา ชา กาแฟ หรือผลไม้เพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพด หรือพืชหมุนเวียนชนิดอื่น

4. กำหนดมาตรการออกโฉนดชุมชน เพื่อควบคุมการขยายตัวของการบุกรุกทำลายป่า โดยให้ เกษตรกรมีพื้นที่ทำกินที่แน่นอน แยกออกจากที่ดินของรัฐ ให้ชัดเจน

5. สนับสนุนโครงการ กองทุนหมู่บ้าน และ SML ให้กับหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ และสามารถป้องกันการบุกรุกเผาป่า หรือเผาวัชพืชภายใน 10 วัน

6. ประสานงานกับ สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อสั่งการให้ทุกจังหวัด ใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อการแก้ไขปัญหา

7. ประสานงานกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้การสนับสนุนงบประมาณแก่เทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล แห่งละ 50,000 บาท

8. ประสานงานกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้กลุ่มพลังมวลชน อสม. กศน. อปพร. นักเรียน นิสิต นักศึกษา ฯลฯ และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ได้ปฎิบัติการตรวจสอบและตรึงพื้นที่ทุกจุดเพื่อป้องกันการบุกรุกเผาป่าและก่อให้เกิดหมอกควัน

จากการดำเนินการดังกล่าว นับจากวันที่ประชุมครั้งแรก ในวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 พบว่าจากแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของปริมาณหมอกควันอย่างต่อเนื่องนั้น หลังจากการดำเนินโครงการ หยุดเผาเพื่อลมหายใจ ได้ 3 วัน ปริมาณการเผาและหมอกควันสามารถควบคุมได้และเริ่มทรงตัว ลดลงใน วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555 ยกเว้นจังหวัดเชียงราย ที่ปริมาณหมอกควันเพิ่มขึ้นสูงถึง 437 ไมโครกรัม ซึ่งเมื่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) ได้จัดให้มีการประชุมแผนปฏิบัติการกับจังหวัดเชียงราย เป็นกรณีพิเศษ ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555 แล้ว ได้พบว่า จังหวัดเชียงราย สามารถลดปริมาณการเผา ในพื้นที่จังหวัดได้ทั้งหมดจนกระทั่ง ลดปริมาณหมอกควันเหลือ 329 ไมโครกรัม ประกอบกับมีฝนตกในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555 จึงทำให้ปริมาณหมอกควันของทุกจังหวัดลดลง ต่ำกว่าเกณท์ที่อาจเป็นอันตรายที่ 120 ไมโครกรัม ยกเว้น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ปริมาณหมอกควันลดลงจาก 359 ไมโครกรัม เหลืออยู่ที่ 234 ไมโครกรัม เนื่องเพราะเป็นจังหวัดที่มีชนเผ่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นพื้นที่กว้างยากต่อการติดต่อสื่อสาร และเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศ พม่า ทำให้มีปริมาณหมอกควันถูกพัดพาเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ปริมาณหมอกควันยังอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอยู่ ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) จะได้ติดตาม และแก้ไขปัญหาต่อไป

ดังนั้น ในภาพรวมแล้ว ทุกจังหวัดจะมีมาตราการ ดังนี้

1. ห้ามมิให้มีการเผาวัชพืช ขยะมูลฝอยทุกชนิด ฝ่าฝืนปรับ 2,000 บาท

2. ห้ามมิให้มีการเผาป่า ฝ่าฝืนปรับสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท และจำคุกสูงสุด 15 ปี

3. ให้ศูนย์เฉพาะกิจควบคุมและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัด ประชาสัมพันธ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) และคุณภาพอากาศ (AQI) ทุกวัน ค่าที่เกินมาตรฐานและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน ให้ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนดำเนินการฉีดพ่นน้ำ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

4. ให้ส่วนราชการทุกส่วนทั้งราชการบริหารส่วนกลางที่มีที่ทำงานตั้งอยู่ในจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้การสนับสนุนในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ทั้งในด้านงบประมาณ บุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการดับไฟ

5. ให้สถานีวิทยุและวิทยุชุมชนทุกสถานี ออกข่าวประกาศมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และไฟป่าอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยออกอากาศทั้งภาษาไทยและภาษาท้องถิ่น รวมทั้งขอความร่วมมือ สถานศึกษาให้จัดทำประกาศจังหวัด เป็นภาษากลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง ทุกภาษา เพื่อครอบคลุมการประชาสัมพันธ์มาตรการของจังหวัดดังกล่าว

6. ให้สาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล จัดเตรียมแพทย์และเวชภัณฑ์ ให้เพียงพอในการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน กรณีที่ได้รับผลกระทบจากภาวะหมอกควันและไฟป่า ตลอดจนให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพพี่น้องประชาชน ในช่วงที่เกิดวิกฤตหมอกควันและไฟป่า

7. จัดชุดประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่รณรงค์และแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ขอความร่วมมือในการงดเผาทุกชนิด ทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมและในเขตป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์อย่าง ต่อเนื่องจนกว่าจะสิ้นสุดสถานการณ์ปญหาหมอกควัน และไฟป่า

8. จัดให้มีหน่วยงานและผู้บริหารราชการ รับผิดชอบเป็นรายพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ทั้งในพื้นที่เกษตรกรรมของพี่น้องประชาชน ตลอดถึงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์

9. จัดให้มีอาสาสมัครรณรงค์และช่วยเหลือพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดับไฟป่าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่

สำหรับมาตรการอื่นๆ ของแต่ละจังหวัดจะเป็นมาตรการที่ดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการเร่งด่วน

ทั้งนี้ จากการที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล) ได้มีคำสั่งให้จังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้ง 7 จังหวัด ยกเว้นจังหวัดเชียงราย ดำเนินการตามรูปแบบของจังหวัดเชียงราย โดยให้ทุกจังหวัดออกเป็นประกาศของจังหวัด และจากการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2555 เวลา 17.30 น. ห้องประชุม 2 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำปาง ได้รับรายงานว่าสถานการณ์ ปัญหาหมอกควันและไฟป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัดจนเหลือเพียงจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพียงจังหวัดเดียว ที่ปริมาณฝุ่นละอองหมอกควัน อยู่ที่ 234 ไมโครกรัม พร้อมนี้ได้กำชับให้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องและให้รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต 15 (นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล) และผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเขต 16 (นางนิตยา วงศ์เดอรี) เพื่อสรุปผลในภาพรวมนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเป็นระยะๆ ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ