ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2012 10:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม 2555 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

มติคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

1. มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการจัดทำรายการสินค้าเฝ้าระวังโดยคำนึงถึงแนวโน้มราคา ปริมาณที่ออกสู่ตลาด และปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพอากาศ เป็นต้น เพื่อให้สามารถมีมาตรการรองรับได้ทันท่วงที รวมทั้งศึกษาโครงการต้นทุนราคาสินค้าที่เป็นธรรม เพื่อให้ราคาสินค้าต้นทางและปลายทางมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยร่วมศึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพลังงาน เป็นต้น

2. มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ดำเนินมาตรการกระจายสินค้าราคาประหยัด (ธงฟ้า) ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าจำเป็นมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และขอความร่วมมือภาคเอกชนในการชะลอการขึ้นราคาสินค้าจำเป็น และดำเนินการประกาศราคาที่เป็นธรรมให้ประชาชนได้ทราบอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที

3. มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษาสินค้าเกษตรเป็นรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลประกอบการประมาณการผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ท้องตลาดตามช่วงฤดูกาลต่าง ๆ และเฝ้าระวังเพื่อหามาตรการรองรับได้ทันท่วงที พร้อมทั้งปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ โดยเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อศึกษาความต้องการซื้อสินค้า และนำมากำหนดนโยบายการส่งเสริมการปลูกพืชชนิดต่าง ๆ และร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อระบายวัตถุดิบทางการเกษตรกรณีสินค้าล้นตลาด โดยการจับคู่ระหว่างสินค้าเกษตรกับโรงงานที่ต้องการวัตถุดิบ เป็นต้น

4. มอบหมายกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการจากต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโครงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้แก่ผู้ประกอบการและแรงงาน เป็นต้น

5. มอบหมายกระทรวงการคลังเร่งรัดพิจารณาและศึกษาโครงสร้างภาษีทั้งระบบ โดยอาจพิจารณาความจำเป็นในการปรับโครงสร้างภาษีของสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย และพิจารณาขยายเวลาของมาตรการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

6. มอบหมายกระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการรณรงค์และสร้างความตระหนักของทุกภาคส่วนในการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ ให้ภาครัฐเป็นหน่วยงานนำร่อง โดยขอให้ทุกกระทรวงดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ในปีงบประมาณ 2555

7. มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณเร่งรัดมาตรการการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเงินให้กับระบบเศรษฐกิจ

8. มอบหมายกรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับทุกกระทรวงในการประชาสัมพันธ์มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน และสร้างจิตสำนึกของประชาชนในการประหยัดพลังงาน

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม

1.1 ในเดือนมกราคม 2555 มูลค่าการส่งออก และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยังคงติดลบที่ ร้อยละ 6.0 และ 15.2 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากภาวะอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมกราคม 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ส่วนภาคเกษตร ในเดือนมกราคม 2555 ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.9 ชี้ให้เห็นว่ามีพื้นที่ทำการเกษตรบางส่วนไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และได้ผลผลิตจำนวนมากถึงแม้ราคาผลผลิตจะลดลง

1.2 รายได้จัดเก็บจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ในเดือนมกราคม 2555 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 6.0 เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่งฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วม

1.3 เงินงบประมาณที่เบิกจ่ายเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 38.5 โดยลดลงทั้งในส่วนของการเบิกจ่ายงบประจำ และงบลงทุนร้อยละ 10.2 และร้อยละ 94.3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของการออกกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ประกอบกับภาวะน้ำท่วมได้ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่าย

2. สถานการณ์เงินเฟ้อ

2.1 ในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.8 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 8.0 ในขณะที่หมวดมิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อพิจารณาส่วนประกอบของอัตราเงินเฟ้อ (Contribution to CPI) พบว่า การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทั่วไปส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก 1) การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประเภทอาหารสำเร็จรูปและเนื้อสัตว์ ซึ่งได้เพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 2) การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดประเภทผักและผลไม้ เนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายและออกสู่ตลาดน้อยลง 3) การเพิ่มสูงขึ้นของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ตามการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ถึงแม้ว่ารัฐบาลได้มีนโยบายยกเว้นการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันช่วงครึ่งหลังของไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ก็ตาม และ 4) การเพิ่มสูงขึ้นของค่าไฟฟ้า จากการปรับขึ้นค่า FT ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ประกอบกับการปรับลดมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ การลดการอุดหนุนค่าไฟฟ้าและน้ำประปา

2.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เท่ากับร้อยละ 3.35 (ในเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 3.38) และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เท่ากับร้อยละ 3.36 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนแรก เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูปทั้งที่บริโภคในบ้านและนอกบ้านเป็นสำคัญ

2.3 มาตรการของรัฐบาลที่มีผลต่อเงินเฟ้อ มาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลจะมีทั้งส่วนที่ช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ และส่วนที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ดังนี้

2.3.1 มาตรการที่ช่วยลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ประกอบด้วย การขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างเป็นธรรม ได้แก่ โครงการ 1 ธงฟ้า 1 ชุมชน การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ มาตรการขึ้นรถเมล์และรถไฟฟรีจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2555 (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555) และการต่ออายุมาตรการยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2555 (ลดอัตราภาษีจาก 5.30 บาทต่อลิตร เหลือ 0.005 บาท ต่อลิตร) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555

2.3.2 มาตรการที่จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ประกอบด้วย การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเริ่มกลับมาทยอยเก็บตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2554 โดยเก็บจากน้ำมันเบนซินและแก๊ซโซฮอล์เดือนละ 1 บาทต่อลิตร และน้ำมันดีเซลเดือนละ 60 สตางค์ต่อลิตร ส่วนราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนจะตรึงราคาที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงสิ้นปี 2555 แต่ภาคขนส่งจะเริ่มทยอยปรับขึ้นเดือนละ 75 สตางค์ต่อกิโลกรัม รวมทั้งราคาก๊าซ NGV ภาคขนส่งจะทยอยขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม และนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน มีผลใน เดือนเมษายน 2555 ใน 7 จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ