คณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการลดใช้พลังงานภาครัฐตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และขอให้เน้นวัตถุประสงค์การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและมากกว่าการประหยัดค่าใช้จ่าย และให้สำนักงบประมาณร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องพลังงานต่อไป
ตามที่ นายกรัฐมนตรี ได้ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจนัดพิเศษ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 เพื่อเตรียมแนวทางดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพ ตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค ที่ประชุมได้มีมติให้กระทรวงพลังงานจับตาสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางบรรเทาผลกระทบ โดยเบื้องต้นให้เตรียมมาตรการรองรับ ได้แก่ การตรึงภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไว้ที่ 0.0005 บาทต่อลิตร การต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพทั้งรถเมล์และรถไฟฟรี หลังสิ้นสุดกรอบเวลาในช่วงเดือนเมษายน และการให้หน่วยงานราชการดำเนินมาตรการลดใช้พลังงานลง ให้ได้อย่างน้อย 10% เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันจาก ต่างประเทศ นั้น
กระทรวงพลังงานได้จัดทำแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ทุกหน่วยงานราชการดำเนินการด้วยความเข้าใจที่ตรงกันและบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดโดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. กำหนดเป้าหมาย: มาตรการลดใช้พลังงานลงให้ได้อย่างน้อย 10%
2. ดำเนินมาตรการระยะสั้น ดังต่อไปนี้
2.1 ให้ตัวชี้วัด (Key Performance Index: KPI) “ระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามมาตรการประหยัดพลังงาน” เป็นหนึ่งในกรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการต่อไป โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
(1) ให้สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดให้ผลการประหยัดพลังงานเป็นตัววัดประสิทธิภาพของปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้บริหารระดับสูงของทุกหน่วยงาน รวมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์การปกครองท้องถิ่น หน่วยงานตุลาการ หน่วยงานรัฐสภา และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
(2) ให้ สำนักงาน ก.พ.ร. และ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกันพิจารณากำหนดเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการประเมินผล
(3) ให้ สนพ. เป็นเจ้าภาพหลักในการติดตามผลและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบ
2.2 ลดการใช้พลังงานลงอย่างน้อยร้อยละ 10
(1) ให้ทุกหน่วยงานกำหนดเป้าหมายลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 10 โดยเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงในปีงบประมาณ พ.ศ.2554
(2) ถ้าหน่วยงานใดมีผลการใช้ไฟฟ้าและหรือน้ำมันเชื้อเพลิงในปีงบประมาณ พ.ศ.2554 เพิ่มขึ้น จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงของปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 โดยไม่มีเหตุผลสมควร หน่วยงานนั้นต้องลดการใช้พลังงานลง 15% จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าและหรือน้ำมันเชื้อเพลิงของปีงบประมาณ พ.ศ.2551
(3) แนวทางดำเนินการ
- ดำเนินการตามแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ
(4) มาตรการลดใช้ไฟฟ้า
- จัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดต้องเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน
- กำหนดเวลาเปิดปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น 08.30-16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25-26 องศาเซลเซียส รวมถึงตั้งงบประมาณล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน โดยห้ามปรับเปลี่ยนงบประมาณไปใช้ในเรื่องอื่น
- กำหนดการใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น การหยุดเฉพาะชั้นคู่หรืออาจจะสลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่ และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย และรณรงค์ขึ้น-ลงชั้นเดียวให้ใช้ลิฟต์
(5) มาตรการลดใช้น้ำมัน
- ให้มีระบบ Car Pool : หน่วยราชการระดับกรมที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันให้จัดระบบการใช้รถแบบรวมศูนย์ เพื่อให้มีการใช้รถอย่างประหยัดและประสิทธิภาพสูงสุด
- กำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ขับรถในอัตราความเร็วยานพาหนะที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 กำหนด
- รถเบนซินราชการและรัฐวิสาหกิจทุกคันในจังหวัดที่มีก๊าซโซฮอล์จำหน่ายต้องใช้ก๊าซโซฮอล์ และหากมี NGV จำหน่ายให้ติดตั้ง NGV ควบคู่ไปด้วย โดยเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มี NGV ให้เติม NGV และอยู่นอกพื้นที่ให้เติมก๊าซโซฮอล์
3. ดำเนินมาตรการระยะยาว ดังต่อไปนี้
3.1 กำหนดให้ “อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม” ก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่ให้เกิน “ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงาน” ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม
3.2 ให้ สำนักงบประมาณ จัดทำข้อกำหนดและเงื่อนไขเพื่อหน่วยงานราชการสามารถจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยานพาหนะใหม่มาใช้ทดแทนของเดิมที่มีอายุการใช้งานมานาน เสื่อมสภาพ และสิ้นเปลืองพลังงาน รวมถึงการจัดการอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือยานพาหนะเดิม เพื่อมิให้มีการนำไปใช้ในที่อื่น โดยการจัดการนั้นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
4. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
ข้อมูลจาก www.e-report.go.th ปริมาณการใช้พลังงานของ 10,782 หน่วยงานราชการ ปีงบประมาณพ.ศ. 2553
4.1 ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวม 3,169 ล้านหน่วย หากสามารถลดการใช้พลังงานได้ตามเป้าหมาย 10% จะลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 316.9 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่า 950 ล้านบาท (ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3 บาท) ลดการปลดปล่อย CO2 184 MtCO2e (1 kWh = 0.5812 kCO2e)
4.2 ปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรวม 191 ล้านลิตร หากสามารถลดการใช้พลังงานได้ตามเป้าหมาย 10% จะลดการใช้น้ำมันลงได้ 19.1 ล้านลิตร คิดเป็นเงินมูลค่า 669 ล้านบาท (ค่าน้ำมันคิดเฉลี่ยหน่วยละ 35 บาท) ลดการปลดปล่อย CO2 43 MtCO2e (เบนซิน 1 ลิตร = 2.280 kCO2e)
รวมลดปริมาณการใช้พลังงานลงคิดเป็นมูลค่า 1,619 ล้านบาท และลดการปลดปล่อย CO2 227 MtCO2e
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--