คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานผลการดำเนินการการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม และการสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มเติม ดังนี้
1. การดำเนินการฟื้นฟู เยียวยานิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ขณะนี้มีโรงงานประกอบกิจการแล้ว 522 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.22 ของโรงงานทั้งหมด 839 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2555)
2. การดำเนินการฟื้นฟูโรงงานขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ขณะนี้มีโรงงาน สถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดดำเนินการแล้ว 6,073 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.20 ของสถานประกอบการทั้งหมด 7,867 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2555)
3. มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ดังต่อไปนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2555)
3.1 การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และวัตถุดิบที่นำมาทดแทนเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัตถุดิบนำเข้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 303 โครงการ มูลค่า 80,291 ล้านบาท
3.2 อนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 183 บริษัท จำนวนคนต่างชาติ รวม 677 คน
3.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์หรือยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายทั้งในกรณีทำการผลิตชั่วคราวหรือลงทุนใหม่ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจในประเทศ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรียบร้อยแล้ว และออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 1/2555 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง มาตรการด้านภาษีอากร เพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมแล้ว จำนวน 7 โครงการ เงินลงทุน 1,928 ล้านบาท
3.4 ยกเว้นค่าบริการในการออกใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมที่สูญหาย จำนวน 19 ราย คิดเป็นเงิน 2,033 บาท
3.5 ยกเว้นค่าบริการในการต่อใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ประจำปี 2555 จำนวน 55 ราย คิดเป็นเงิน 588,500 บาท
3.6 ยกเว้นค่าบริการในการออกหนังสือรับรองสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-PP & Paperless) ให้แก่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี จำนวน 33 ราย คิดเป็นเงิน 466,920 บาท
3.7 อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่และทำงานได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยยกเว้นเป็นระยะเวลาตั้งแต่เกิดอุทกภัย จนถึง เดือนธันวาคม 2555 จำนวน 15 ราย เป็นช่างฝีมือ 31 คน ที่อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
3.8 บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรีในการย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ ออกนอกเขตประกอบการเสรีไปยังสถานที่ประกอบการชั่วคราวโดยยังสามารถประกอบกิจการและปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้ตามปกติ จำนวน 33 ราย
3.9 ให้การรับรองการเป็นผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการประสบอุทกภัยและอนุมัติการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ลงวันที่ 5 มกราคม 2555 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการรับรองผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยและอนุมัติการนำเข้าเครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องจักร รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้กับเครื่องจักรดังกล่าว เพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัย ลงวันที่ 14 มกราคม 2555 จำนวน 2 ราย
4. โครงการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2555)
4.1 โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณจำนวน 47.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์สำหรับเป็นพื้นที่สำนักงานและโรงงานชั่วคราวสำหรับสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่ประสบอุทกภัย เพื่อการผลิต จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องจักรและซ่อมแซมเครื่องจักร และมีสถานที่ดำเนินการตั้งอยู่ ณ สำนักงานอำนวยการศูนย์พักพิง บริเวณตลาดโรงเกลือประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการแล้ว รวม 133 ราย จากเป้าหมาย 100 ราย ประกอบด้วยสถานประกอบการอุตสาหกรรม 70 ราย และวิสาหกิจชุมชน 63 ราย และมีการใช้พื้นที่แล้ว 18,240 ตารางเมตร จากพื้นที่ 21,640 ตารางเมตร คงเหลือพื้นที่สามารถรองรับสถานประกอบการได้อีก 3,400 ตารางเมตร
4.2 โครงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และกากอุตสาหกรรม ในสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ จำนวน 22 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในและนอกนิคม พร้อมส่งทีมวิศวกรออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ เพื่อดูแล ตรวจสอบ และแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งชนิดอันตรายและไม่อันตรายและแก้ไขการปนเปื้อนของสารพิษ สารเคมี เพื่อให้สถานประกอบการฟื้นคืนสู่การผลิตดังเดิม และเกิดความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชนบริเวณโดยรอบโรงงาน โดยมีสถานประกอบการได้รับการตรวจสอบแล้ว จำนวน 1,292 ราย คิดเป็นร้อยละ 64.6 ของโรงงานเป้าหมายทั้งหมด (2,000 โรงงาน)
4.3 โครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ดิน และการปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรมในสถานประกอบการทั้งภายในและภายนอกนิคม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดินและสารปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกนิคม ในพื้นที่ 14 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยมุ่งเน้นสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม/เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัย โดยขณะนี้ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลแล้ว 695 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 58 ของตัวอย่างทั้งหมด (1,200 ตัวอย่าง)
5. ความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 15 มีนาคม 2555)
5.1 นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 13 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 660 ล้านบาท โดยมีแผนเริ่มก่อสร้างประมาณวันที่ 1 พฤษภาคม 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 30 กันยายน 2555 ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ
5.2 เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 77.6 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 2,233 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 30 กันยายน 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 2
5.3 นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 550 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 13.80
5.4 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 728 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 17.40
5.5 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1,102 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555
5.6 สวนอุตสาหกรรมบางกระดี การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 8.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 272 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 30 สิงหาคม 2555
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--