ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 22, 2012 11:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2555 เมื่อวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2555 ณ จังหวัดภูเก็ต

2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีตามผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2555 จังหวัดภูเก็ต และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุม และรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 3/2555 ในวันจันทร์ที่ 19 มีนาคม 2555 เวลา 18.00 — 19.15 น. ณ ห้องประชุมรองศาสตราจารย์มนัส ชัยสวัสดิ์ อาคาร 3 คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต มีรายละเอียดข้อเสนอเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. ข้อเสนอของภาคเอกชน (เสนอโดย กกร./สทท.) ประกอบด้วย 8 เรื่อง ดังนี้

1.1 โครงการขยายถนนฝั่งอันดามัน (ทางหลวงหมายเลข 4) ให้เป็นถนน 4 ช่องทางจราจร ทั้งระบบ (เสนอโดย กกร.)

ข้อเสนอ

ขอรับการสนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินโครงการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ฝั่งอันดามัน ตั้งแต่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร — ระนอง — พังงา — ตรัง เชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 404 — หมายเลข 416 และหมายเลข 4148 — ด่านวังประจัน จังหวัดสตูล ให้เป็นถนน 4 ช่องทางจราจร ตลอดสายทั้งระบบ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถที่จะรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และเชื่อมโยงฝั่งอ่าวไทย รวมทั้ง เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมของประเทศรองรับการพัฒนาท่าเรือทวาย ท่าเรือระนอง ท่าเรือน้ำลึกปากบาราในอนาคต ตลอดจนสามารถใช้เป็นเส้นทางทดแทนเส้นทางหมายเลข 41 เมื่อเกิดอุทกภัยในภาคใต้

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงคมนาคมพิจารณาเร่งรัดการดำเนินการโครงการขยายถนนฝั่งอันดามัน (ทางหลวงหมายเลข 4) ให้เป็นถนน 4 ช่องจราจรทั้งระบบ ตั้งแต่แยกปฐมพร จังหวัดชุมพร-ระนอง-พังงา-ตรัง เชื่อมทางหลวงหมายเลข 404 — หมายเลข 416 และหมายเลข 4184 — ด่านวังประจัน จังหวัดสตูล โดยให้ยึดเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเป็นหลัก และคำนึงถึงหลักความปลอดภัยในการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชน

1.2 โครงการรถไฟทางคู่ภาคใต้ (เส้นทางกรุงเทพฯ — ชุมพร — สุไหงโก-ลก และปาดังเบซาร์) (เสนอโดย กกร.)

ข้อเสนอ

กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่ เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ (ระยะที่ 1) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ซึ่งเห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553 — 2558 เพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 4 เส้นทางทั่วประเทศ สำหรับเส้นทางจากชุมพร — สุไหงโก-ลก และปาดังเบซาร์ ยังไม่มีกำหนดในแผนดำเนินการ ดังนั้น การเร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายใต้ให้แล้วเสร็จทั้งระบบจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ของภาคใต้และประเทศโดยรวม

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงคมนาคมพิจารณาศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการพัฒนาเร่งรัดระบบโครงการรถไฟทางคู่ภาคใต้ (เส้นทางกรุงเทพฯ — ชุมพร — สุไหงโก-ลก และปาดังเบซาร์) ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาระบบรางและรถไฟความเร็วสูงที่กระทรวงคมนาคมได้ศึกษาไว้ รวมทั้ง เร่งรัดการดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

1.3 โครงการ “ทางรถไฟสายอันดามัน” (เสนอโดย สทท.)

ข้อเสนอ

โครงการฯ เป็นเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยวและการขนส่งในกลุ่ม 5 จังหวัดอันดามัน และเป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งในระบบรางสายตะวันตกระหว่างประเทศจีนและเมียนม่าร์ ซึ่งรัฐบาลจีนต้องการที่จะใช้การขนส่งระบบราง นำสินค้าของประเทศตนออกสู่มหาสมุทรอินเดียที่ท่าเรือน้ำลึกในโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวในแถบอันดามันได้อย่างมหาศาล จึงเห็นควรจัดทำแผนการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ การลงทุนก่อสร้าง การจัดหาแหล่งทุน การบริหาร การคำนวณผลตอบแทน และเสนอโครงการให้เป็นแผนการลงทุนโดยภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศรับสัมปทานไปดำเนินการและแบ่งผลกำไรให้รัฐและท้องถิ่นในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกรอบของกฎหมาย

มติที่ประชุม

มอบหมายสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ศึกษาความเป็นไปได้ และจัดทำรายละเอียดของโครงการ “ทางรถไฟสายอันดามัน” ทั้งปริมาณการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ความคุ้มค่าในการลงทุน ตลอดจนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

1.4 ขอให้ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาสนามบินในกลุ่มพื้นที่อันดามัน (เสนอโดย สทท.)

ข้อเสนอ

ปัจจุบันพื้นที่ในกลุ่มอันดามันมีสนามบินหลัก 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินนานาชาติภูเก็ต สนามบินกระบี่ และสนามบินตรัง ซึ่งปัญหาอุปสรรคของสนามบินในการรองรับนักท่องเที่ยวขณะนี้ยังเป็นปัญหาที่ต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น ปัญหาที่เกิดจากการรองรับด้านสาธารณูปโภคของตัวอาคารสถานที่ ยังคงต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วนเพราะอยู่ในลักษณะที่เสื่อมสภาพเป็นส่วนใหญ่ ปัญหาความไม่เพียงพอของลานจอดเครื่องบินและทางวิ่ง รวมถึงปัญหาด้านการบริหารจัดการสนามบินอย่างมืออาชีพและเป็นสากล

มติที่ประชุม

มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อศึกษาแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยานทั่วประเทศ ทั้งในด้านการแก้ไขปัญหาความแออัดและการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสาร การจัดเตรียมอัตรากำลังของภาครัฐที่เหมาะสม การปรับปรุงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของท่าอากาศยาน รวมทั้งการบริหารจัดการของท่าอากาศยาน และความเป็นไปได้ในการจัดจ้างหน่วยงานภายนอกมาให้บริการ โดยให้สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการดำเนินงานของคณะทำงานต่อไป

1.5 การอำนวยพิธีการตรวจคนเข้าเมือง เข้า — ออก ณ สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ (เสนอโดย กกร.)

ข้อเสนอ

เร่งรัดแก้ไขเพื่ออำนวยความสะดวกพิธีการตรวจคนเข้าเมือง โดยการบริหารจัดการที่ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความรวดเร็วในการตรวจหนังสือเดินทาง เช่น (1) การปรับรูปแบบการจัดแถวของผู้โดยสารเพื่อรอการตรวจหนังสือเดินทางให้เป็น single line และ มีบริการ multi-counter โดยมีเจ้าหน้าที่บริการเพื่อจัดคิว ในรูปแบบเดียวกับสนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว และสนามบินกรุงปักกิ่ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน (2 การจัดให้ผู้โดยสารชั้นธุรกิจและชั้น First Class ของทุกสายการบิน ใช้บริการตรวจหนังสือเดินทางในช่องพิเศษของสายการบินไทย และ(3) การมีระบบหรือปุ่มเพื่อกดแสดงความพึงพอใจการได้รับบริการเพื่อประมวลเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงคมนาคมรับไปดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 ซึ่งมีมติให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวและรายงานผลการดำเนินงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ และมอบหมายสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาภาพรวมการปรับปรุงการให้บริการ ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง โดยพิจารณารูปแบบ เทคโนโลยี และกำลังพลที่เหมาะสม และให้หารือกับกระทรวงคมนาคมในเรื่องความเพียงพอของพื้นที่กายภาพที่จะให้บริการ

1.6 โครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติทะเลไทย (ปะการังเทียม) ฝั่งอันดามัน (เสนอโดย กกร.)

ข้อเสนอ

ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ จำนวน 58 ล้านบาท เพื่อจัดทำ “โครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ ทะเลไทย” (ปะการังเทียม) ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่เหมาะสมต่อการวางบ้านปลา ทั้งหมด 15 แห่ง 15 จังหวัด ทั่วทะเลไทย โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง และจะขยายโครงการไปยังพื้นที่เป้าหมาย ตามลำดับ อันจะมีส่วนช่วยฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ช่วยเหลือและยกระดับรายได้ชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนรวมของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบูรณาการโครงการของจังหวัดภูเก็ตและข้อเสนอของภาคเอกชน ทั้งในเรื่องการกำหนดพื้นที่ เทคนิคการวางปะการัง งบประมาณที่เหมาะสม และการร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่ายระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2556 ต่อไป

1.7 การเร่งรัดดำเนินการ เรื่อง แนวทาง/มาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ยางพารา ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2554 (เสนอโดย กกร.)

ข้อเสนอ

ขอให้เร่งรัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการ ดังนี้ (1) การแจ้งยืนยันการจัดทำประเภทเอกสารสิทธิ์ จำนวน 46 รายการ (2) การออกประกาศระเบียบกรมป่าไม้ ว่าด้วยการควบคุม การแปรรูปไม้ฯ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2555 เพื่อให้สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลา 90 วันก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ (3) การยกร่างข้อกำหนดฉบับที่ .... (พ.ศ. 2555) ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ (4) การออกแนวปฏิบัติการกำหนดค่ามาตรฐานในการแปลงค่าน้ำหนักเป็นปริมาตร เพื่อประกอบการจัดทำบัญชีไม้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและถือปฏิบัติต่อไป และ (5) การออกประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ .... (พ.ศ. 2555) ว่าด้วยอัตราค่าธรรมเนียมรายปี รวมทั้ง ขอให้พิจารณาออกพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ยางพารา เพื่อลดอุปสรรคในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และควรมีการดำเนินการในลักษณะของคณะกรรมการระดับชาติเช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้มีการจัดตั้ง Malaysia Timber Industry Board (MTIB) และ Malaysia Palm Oil Board (MPOB)

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่งรัดการพิจารณาการออกระเบียบ ข้อกำหนด และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องภายใต้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484

1.8 กลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ปัญหาที่สามารถปฏิบัติและหวังผลได้ในกลุ่มจังหวัดอันดามัน (เสนอโดย สทท.)

ข้อเสนอ

ขอเสนอกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ปัญหาที่สามารถปฏิบัติและหวังผลได้ โดยการจัดตั้ง “คณะกรรมการการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวจังหวัดเชิงปฏิบัติการ” มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานและหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และจะต้องมีคณะเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้เป็นการเฉพาะ โดยได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบาย งบประมาณ และอำนาจเชิงบริหารจากนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ติดตามความก้าวหน้าของงานด้านต่างๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในการประชุมที่จะต้องจัดขึ้นเป็นประจำตามปริมาณงานที่จะต้องดำเนินการ และเสนอโครงการหรือปัญหาที่นอกเหนืออำนาจและขีดความสามารถต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายและมีอำนาจในการตัดสินใจต่อไป ทั้งนี้ ความสำเร็จในการบริหารจัดการงานท่องเที่ยวของประเทศจะสำเร็จได้ จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญ มีความมุ่งมั่นและการติดตามงานอย่างใกล้ชิดของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ระดับนโยบายหรือผู้นำรัฐบาลลงมา

มติที่ประชุม

มอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รับไปพิจารณกำหนดรูปแบบของกลไกที่สามารถขับเคลื่อนการบูรณาการการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวทั้งในระดับภาพรวม และระดับพื้นที่/กลุ่มจังหวัด

2. ข้อสั่งการเพิ่มเติมของนายกรัฐมนตรี จำนวน 5 เรื่อง ดังนี้

2.1 การแก้ปัญหาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้นำมาซึ่งปัญหาของระบบขนส่งมวลชน ความแออัดของสนามบินภูเก็ต รวมทั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะ และน้ำประปาไม่เพียงพอ ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้มีความเพียงพอและมีคุณภาพในการให้บริการ จึงมอบหมาย ดังนี้

1) ระบบขนส่งมวลชน มอบหมายกระทรวงคมนาคมร่วมกับจังหวัดในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านความเพียงพอและคุณภาพการให้บริการ

2) ความแออัดของสนามบินภูเก็ต มอบหมายกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อบูรณาการการแก้ไขปัญหาความแออัด การให้บริการ และการบริหารจัดการของสนามบิน

3) ระบบบำบัดน้ำเสียและกำจัดขยะ มอบหมายกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดรับไปดำเนินการ

4) น้ำประปาไม่เพียงพอ มอบหมายกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดรับไปดำเนินการ

2.2 การแก้ไขปัญหาหลอกลวงเอาเปรียบนักท่องเที่ยวและปัญหาผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นคุกคามผู้ประกอบการ มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปพิจารณาดำเนินการ โดยเร่งพัฒนายกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

2.3 การแก้ปัญหาการบุกรุกของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ และคุณภาพของชายหาดและน้ำทะเลของชายหาดสาธารณะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของกลุ่มจังหวัดอันดามัน มอบหมายกระทรวงมหาดไทยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพื้นที่ (จังหวัด ท้องถิ่น และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว) ดำเนินการศึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในการพิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

2.4 การสร้างศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอันดามันเพื่อตอบสนองแนวโน้มการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการใน 2 เรื่อง ดังนี้

1) เส้นทางการท่องเที่ยวภายในกลุ่มยังไม่เชื่อมโยงเท่าที่ควรและในหลายพื้นที่สามารถพัฒนาเป็นมารีน่าได้ เห็นควรส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลในกลุ่มจังหวัดสามเหลี่ยมอันดามัน (ภูเก็ต-กระบี่-พังงา) เพื่อขยายฐานตลาดให้กับภูเก็ตและช่วยกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชนในจังหวัดตรัง และจังหวัดระนอง เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวระดับบน

2) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เชิงวัฒนธรรม และเชิงอนุรักษ์ มีแนวโน้มเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เห็นควรให้มีการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาดที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ซึ่งกลุ่มจังหวัดอันดามันสามารถพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองแนวโน้มดังกล่าวได้อย่างหลากหลาย อาทิ แหล่งน้ำแร่/บ่อน้ำพุร้อน จังหวัดระนอง ย่านการค้าเมืองเก่าภูเก็ต และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางบกและทางทะเล อ่าวพังงา เป็นต้น

2.5 การแก้ปัญหาพื้นที่ป่าชายเลนเริ่มเสื่อมโทรม ควรให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดฝั่งอันดามันให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง แหล่งเรียนรู้ของเยาวชน และแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างบูรณาการ ขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันดำเนินกิจกรรมการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และมาตรการดูแลและป้องกันผลกระทบที่มีต่อพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่

3. เรื่องอื่นๆ ที่ภาคเอกชนเสนอเพิ่มเติม (เสนอโดย กกร.) รวม 4 ประเด็น ดังนี้

3.1 การเร่งรัดการขยายด่านศุลกากรสะเดา โดยขอให้มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการด้านการทำความตกลงกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ตามแผนการขยายด่านศุลกากรเพื่อให้สามารถจ่ายค่าผลอาสินและเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่พัฒนาด่าน ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดช่องทางจราจรเพิ่มเติมบริเวณด่านศุลกากรและพัฒนาบริการให้มีความสะดวกรวดเร็ว

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงการคลัง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เร่งรัดกระบวนการเจรจาความตกลงกับประชาชนและจ่ายค่าผลอาสินโดยเร็ว เพื่อให้สามารถพัฒนาบริการของด่านศุลกากรสะเดาต่อไป

3.2 การขยายระยะเวลาการใช้มาตรการสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขอให้มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการขยายระยะเวลาการใช้มาตรการดังกล่าวซึ่งจะครบกำหนดในปี 2555 ออกไปอีกเป็นเวลา 5 ปี เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาความมั่นคงชายแดน ให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพอยู่ได้โดยไม่เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่

มติที่ประชุม

เห็นชอบในหลักการและมอบหมายกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการโดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

3.3 การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โดยขอให้มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาท่าเรือปากบาราเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการขนส่งสินค้าของภาคใต้และของประเทศสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยที่การขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือของมาเลเซียเริ่มมีค่าใช้จ่ายในการบริการขนส่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มมีผลกระทบในด้านต้นทุนและมีผลโดยตรงต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ โดยคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

3.4 การจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้อย่างเต็มรูปแบบในระยะที่ 2 ของโครงการ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะเป็นเครือข่ายการดำเนินงานภายใต้โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ เห็นควรให้หน่วยงานภาครัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ภาคใต้ ดำเนินการจัดทำข้อเสนอโครงการฯ เพื่อของบประมาณในการดำเนินการโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้

มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ