คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประเทศไทยยืนยันความเป็นสมาชิกพันธมิตรนานาชาติการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแจ้งยืนยันความเป็นสมาชิกพันธมิตรนานาชาติการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตรให้ประเทศนิวซีแลนด์ทราบ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และให้ กษ. รับความเห็นของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพิจารณาดำเนินการด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กษ. รายงานว่า
1. พันธมิตรนานาชาติการวิจัยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร (Global Research Alliance on Agricultural Greenhouse Gases หรือ GRA) เป็นข้อริเริ่มของประเทศนิวซีแลนด์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการศึกษาวิจัยในภาคการเกษตรแต่ละด้านเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตร พร้อมเชิญชวนประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตร GRA
2. กฎบัตร GRA มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศแบบสมัครใจ เพื่อส่งเสริมการวิจัยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร รวมทั้งการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคเกษตร การเพิ่มศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนในดิน การปรับปรุงประสิทธิภาพและสร้างภูมิคุ้มกัน ตลอดจนการปรับระบบการผลิตเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงทางอาหาร
2.2 เป็นกรอบกิจกรรมความร่วมมือวิจัย ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจกและการเก็บกักคาร์บอน การส่งเสริมการปรับตัวพร้อมกับการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาเครื่องมือทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ใช้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนในการสั่งสมองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในระดับนักวิทยาศาสตร์ เกษตรกร องค์กรเกษตรกร และองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล
2.3 การเข้าร่วมและลาออกจากการเป็นสมาชิก GRA กำหนดให้การเข้าร่วมและออกจากการเป็นสมาชิกอยู่บนพื้นฐานความสมัครใจ และสมาชิกเป็นผู้กำหนดลักษณะและขอบเขตของการเข้าร่วมกิจกรรมเอง และกฎบัตร GRA ได้กำหนดให้สมาชิก GRA คือ รัฐที่ได้ลงนามในกฎบัตร GRA
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 มีนาคม 2555--จบ--