คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันพ้นจากตำแหน่งห้ามมิให้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเป็นกรรมการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ ที่ปรึกษาหรือถือหุ้นเกินร้อยละศูนย์จุดห้าของทุนที่ชำระแล้วของเอกชนที่คณะกรรมการดังกล่าวได้อนุมัติหลักการให้ร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือได้ทำสัญญาร่วมลงทุนกับหน่วยงานเจ้าของโครงการ และให้มีอำนาจในการให้คำแนะนำหรือความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนมีการตราพระราชกฤษฎีกายกเว้นไม่ให้นำร่างพระราชบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(ร่างมาตรา 15- ร่างมาตรา 16)
2. กำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดเสนอกรอบนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในความรับผิดชอบของกระทรวงต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ต่อไป โดยกรอบนโยบายที่แต่ละกระทรวงเสนอให้แสดงภาพรวม ลักษณะของโครงการ ลำดับความสำคัญของกิจการของรัฐในความรับผิดชอบของกระทรวงที่จำเป็นหรือเหมาะสมจะให้เอกชนร่วมลงทุน (ร่างมาตรา 20)
3. กำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งรายงานของที่ปรึกษาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเสนอโครงการด้วย (ร่างมาตรา 25)
4. กำหนดขั้นตอนการดำเนินโครงการเพื่อคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (ร่างมาตรา 31-ร่างมาตรา 41)
5. กำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในกระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการเสนอโครงการที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ การจัดทำผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการและการจ้างที่ปรึกษา (ร่างมาตรา 48)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 มีนาคม 2555--จบ--