(ร่าง) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แห่งราชอาณาจักรไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 25, 2012 13:36 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง (ร่าง) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แห่งราชอาณาจักรไทย

และคณะกรรมการชาติพันธุ์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่าด้วยกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แห่งราชอาณาจักรไทย และคณะกรรมการชาติพันธุ์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่าด้วยกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในนามรัฐบาลไทย และอนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้ลงนามที่อ้างถึงข้างต้นในการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ

3. เห็นชอบให้สามารถปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำใน (ร่าง) บันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญได้ก่อนการลงนามโดยหารือกับ กต.

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. รายงานว่า

1. พม. มีภารกิจในการพัฒนาและจัดสวัสดิการแก่กลุ่มชาติพันธุ์ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางในการพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์กับคณะกรรมการชาติพันธุ์สาธารณสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2549 และได้มีความสนใจร่วมกันในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ ของแต่ละประเทศ

2. เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการเรียนรู้เกี่ยวกับกิจการชาติพันธุ์ของทั้งสองประเทศ พม. จึงได้จัดทำ (ร่าง) บันทึกความเข้าใจความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แห่งราชอาณาจักรไทย และคณะกรรมการชาติพันธุ์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่าด้วยกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ โดยได้ประมาณการกำหนดจัดพิธีลงนาม (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงไตรมาสที่สองของปีปฏิทิน พุทธศักราช 2555 (เมษายน-มิถุนายน)

3. (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวทางในการพัฒนาชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ และส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ของทั้งสองประเทศ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

3.1 คู่ภาคีจะร่วมมือกันในสาขากิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกันเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลและความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจ การอนุรักษ์และส่งเสริมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าในด้านกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ของแต่ละประเทศ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ดำรงไว้ซึ่งเอกภาพและเสถียรภาพของประเทศ รวมถึงเสถียรภาพในภูมิภาคและสันติภาพของโลก

3.2 คู่ภาคีจะสร้างความสัมพันธ์ในการร่วมมือและเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนมิตรภาพระหว่างกัน บนหลักต่างตอบแทน คู่ภาคีจะส่งคณะผู้แทนของตนทุกสองปี ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโส (ประมาณ 10 คน) มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ด้านกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่ระบุไว้ใน (ร่าง) บันทึกความเข้าใจฯ

3.3 คู่ภาคีจะให้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่คณะผู้แทนที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสาขาชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ (รวมถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์) ให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนและประสบการณ์ความชำนาญของตนในด้านกิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์

3.4 คู่ภาคีจะให้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่หน่วยงานภายใต้การบริหารของตนในการติดต่อแลกเปลี่ยนและความร่วมมือที่มีการตอบสนองซึ่งกันและกัน ในสาขากิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ บนพื้นฐานของสาระที่ตกลงกันในบันทึกความเข้าใจฯ

3.5 คู่ภาคีจะร่วมมือกันในการจัดหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นด้านชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่ 7-15 วัน เพื่อสร้างขีดความสามารถให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสาขากิจการชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ของคู่ภาคี (โดยมีจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมตั้งแต่ 12-15 คนต่อหลักสูตร) โดยหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นนี้จะจัดขึ้นสลับกันในระหว่างสองประเทศ

3.6 ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.2 ข้อ 3.3 และข้อ 3.5 ภาคีที่ส่งคณะผู้แทนของตนจะรับผิดชอบค่าพาหนะเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนภาคีที่รับคณะผู้แทนจะรับผิดชอบค่าอาหาร และค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ภายในประเทศของตน ทั้งนี้ ตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับของภาคีผู้รับ และขึ้นอยู่กับเงินทุนที่มีอยู่ของภาคีผู้รับ

3.7 ข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากบันทึกความเข้าใจฯ จะระงับอย่างฉันมิตรโดยการเจรจาระหว่างคู่ภาคี

3.8 บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้เป็นเวลาห้าปี นับตั้งแต่วันที่มีการลงนาม และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติทุกปี และสามารถแก้ไขได้โดยความยินยอมร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรของคู่ภาคีผ่านช่องทางการทูต โดยการแก้ไขหรือการเพิ่มเติมนั้นจะมีผลใช้บังคับในวันที่กำหนดโดยคู่ภาคีและถือเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกความเข้าใจฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 24 เมษายน 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ