คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานผลการดำเนินการการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม และการสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มเติม ดังนี้
1. การดำเนินการฟื้นฟู เยียวยานิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี ขณะนี้มีโรงงานประกอบกิจการแล้ว 604 ราย คิดเป็นร้อยละ 72 ของโรงงานทั้งหมด 839 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2555)
2. การดำเนินการฟื้นฟูโรงงานขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ขณะนี้มีโรงงาน สถานประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดดำเนินการแล้ว 6,921 ราย คิดเป็นร้อยละ 87.89 ของสถานประกอบการทั้งหมด 7,875 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2555)
3. มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ดังต่อไปนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2555)
3.1 การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และวัตถุดิบที่นำมาทดแทนเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัตถุดิบนำเข้าที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 372 โครงการ มูลค่า 87,698 ล้านบาท
3.2 อนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานแก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริม ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 203 บริษัท จำนวนคนต่างชาติ รวม 776 คน
3.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์หรือยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายทั้งในกรณีทำการผลิตชั่วคราวหรือลงทุนใหม่ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจในประเทศ ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรียบร้อยแล้ว และออกประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ 1/2555
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง มาตรการด้านภาษีอากร เพื่อฟื้นฟูการลงทุนจากวิกฤตอุทกภัย ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมแล้ว จำนวน 23 โครงการ เงินลงทุน 10,655 ล้านบาท
3.4 ยกเว้นค่าบริการในการออกใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ที่สูญหาย จำนวน 19 ราย คิดเป็นเงิน 2,033 บาท
3.5 ยกเว้นค่าบริการในการต่อใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม ประจำปี ๒๕๕๕ จำนวน 60 ราย คิดเป็นเงิน 642,000 บาท
3.6 ยกเว้นค่าบริการในการออกหนังสือรับรองสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-PP & Paperless) ให้แก่ผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรี จำนวน 8,137 คำขอ คิดเป็นเงิน 732,330 บาท
3.7 อนุญาตให้ผู้ประกอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่และทำงานได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยยกเว้นเป็นระยะเวลาตั้งแต่เกิดอุทกภัย จนถึงเดือนธันวาคม 2555 จำนวน 15 ราย เป็นช่างฝีมือ 31 คน ที่อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
3.8 บริการช่วยเหลือผู้ประกอบการในเขตประกอบการเสรีในการย้ายเครื่องจักร อุปกรณ์ วัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ ออกนอกเขตประกอบการเสรีไปยังสถานที่ประกอบการชั่วคราวโดยยังสามารถประกอบกิจการและปฏิบัติพิธีการศุลกากรได้ตามปกติ จำนวน 33 ราย
3.9 ให้การรับรองการเป็นผู้ประกอบการที่มีสถานประกอบการประสบอุทกภัยและอนุมัติการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องการยกเว้นอากรศุลกากรในเขตพื้นที่ประสบอุทกภัย ลงวันที่ 5 มกราคม 2555 และประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางในการรับรองผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยและอนุมัติการนำเข้าเครื่องจักร ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบเครื่องจักร รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้กับเครื่องจักรดังกล่าว เพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัย ลงวันที่ 14 มกราคม 2555 จำนวน 9 ราย
3.10 การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2554 กรณีโรงงานตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติแจ้งข้อมูลความเสียหายที่ได้รับเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วจึงแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบกิจการนำมายื่นยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2554 ถึง 30 พฤศจิกายน 2559 แล้ว กรณีโรงงานในต่างจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการรับแจ้งข้อมูลและให้ความเห็นชอบให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมต้นฉบับแบบแจ้งข้อมูลความเสียหายที่ได้ตรวจสอบและเห็นชอบให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมแล้ว และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมของสำนักที่รับผิดชอบโรงงานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและของอุตสาหกรรมจังหวัดท้องที่ที่ได้รับความเสียหายที่ส่งให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม
4. โครงการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2555)
4.1 โครงการจัดตั้งศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณจำนวน 47.4 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดตั้งศูนย์สำหรับเป็นพื้นที่สำนักงานและโรงงานชั่วคราวสำหรับสถานประกอบการและวิสาหกิจชุมชนที่ประสบอุทกภัย เพื่อการผลิต จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องจักรและซ่อมแซมเครื่องจักร และมีสถานที่ดำเนินการตั้งอยู่ ณ สำนักงานอำนวยการศูนย์พักพิง บริเวณตลาดโรงเกลือประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ รวม 134 ราย จากเป้าหมาย 100 ราย ประกอบด้วยสถานประกอบการอุตสาหกรรม 71 ราย และวิสาหกิจชุมชน 63 ราย และมีการใช้พื้นที่ทั้งหมด 21,640 ตารางเมตร
4.2 โครงการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และกากอุตสาหกรรม ในสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 22 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งในและนอกนิคม พร้อมส่งทีมวิศวกรออกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือ เพื่อดูแล ตรวจสอบ และแนะนำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้งชนิดอันตรายและไม่อันตรายและแก้ไขการปนเปื้อนของสารพิษ สารเคมี เพื่อให้สถานประกอบการฟื้นคืนสู่การผลิตดังเดิม และเกิดความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชนบริเวณโดยรอบโรงงาน โดยมีสถานประกอบการได้รับการตรวจสอบแล้ว จำนวน 1,714 ราย คิดเป็นร้อยละ 85.7 ของโรงงานเป้าหมายทั้งหมด (2,000 โรงงาน)
4.3 โครงการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ดิน และสารปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรมในสถานประกอบการทั้งในและนอกนิคม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดินและสารปนเปื้อนของสารพิษอุตสาหกรรม ทั้งในและนอกนิคม ในพื้นที่ 14 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยมุ่งเน้นสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม/เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ที่ประสบอุทกภัย โดยขณะนี้ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผลแล้ว 821 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 68 ของตัวอย่างทั้งหมด (1,200 ตัวอย่าง)
4.4 โครงการศูนย์สารพัดช่างเพื่อการฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 51.02 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับกิจกรรมการดำเนินโครงการ
4.5 โครงการบริหารจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ประสบอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณ 17.38 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการตรวจสอบและวิเคราะห์กากของเสีย และการขนส่งและกำจัดกากของเสียในแต่ละประเภท
4.6 โครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 148 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว
4.7 โครงการฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับงบประมาณ 411.6177 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ประเทศไทย โดยทำการประชาสัมพันธ์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการประชุม สัมมนาการลงทุนในต่างประเทศ 2 ครั้ง ที่ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
4.8 โครงการฟื้นฟูซ่อมแซมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ได้รับงบประมาณ 1.7697 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารสถานที่
5. ความคืบหน้าการก่อสร้างเขื่อน นิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม และสวนอุตสาหกรรม (ข้อมูล ณ วันที่ 12 เมษายน 2555)
5.1 นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 7 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 660 ล้านบาท โดยมีแผนเริ่มก่อสร้างประมาณวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 (ด้านหน้าใช้ถนนเป็นคันกันน้ำ) และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 30 กันยายน 2555 ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ
5.2 เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 77.6 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 2,172 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 10.84
5.3 นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 550 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 26
5.4 นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 14 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 728 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 27
5.5 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 1,102 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 16.84
5.6 สวนอุตสาหกรรมบางกระดี การก่อสร้างเขื่อนมีความยาวโดยประมาณ 8.5 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างประมาณ 272 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 และกำหนดเสร็จสิ้นในวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ความก้าวหน้าในการก่อสร้างเขื่อน คิดเป็นร้อยละ 17
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤษภาคม 2555--จบ--