สถานการณ์สิ่งแวดล้อมจากการรั่วไหลของสารพิษในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 9, 2012 11:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสถานการณ์การปนเปื้อนสารพิษในพื้นที่มาบตาพุด และมาตรการในการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สืบเนื่องจากในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15.30 น. ได้เกิดเพลิงไหม้และการระเบิดขึ้นบริเวณโรงงาน บริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ในหน่วยการผลิตที่มีการใช้สารโทลูอีน (toluene) ในการล้างถัง จนเกิดการระเบิดและเพลิงไหม้ขึ้น รวมทั้งมีการรั่วไหลของสารพิษและควันดำสู่บรรยากาศ เหตุการณ์นี้ทำให้คนงานเสียชีวิต 12 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมากซึ่งเพลิงได้ดับลงเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 และในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลาประมาณ 18.30 น. ได้เกิดกรณีฉุกเฉินจากอุบัติเหตุการปิดวาล์วสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ (สารฟอกขาว) จากโรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้เกิดก๊าซคลอรีนรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใต้ลมในแคมป์คนงานบริเวณใกล้เคียงกว่า 140 ราย และนอนสังเกตอาการที่โรงพยาบาล 12 ราย โดยไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

2. ผลการดำเนินการที่ผ่านมา

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอรายงานสถานการณ์และการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

2.1 กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบสารทูโลอีนในพื้นที่ ในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 9.00 น. พบการปนเปื้อนสารทูโลอีน 5 ส่วนในล้านส่วน (part per million, ppm) ในบริเวณด้านหน้ารั้วโรงงานบริษัทบีเอสที อิลาสโตเมอร์ จำกัด (ระดับที่จะเป็นอันตรายต่อร่างการ ต้องมีปริมาณมากกว่า 50 ส่วนในล้านส่วน) และตรวจสอบอีกครั้ง ในเวลา 13.00 น. ไม่พบการปนเปื้อนของสารทูโลอีนในพื้นที่ชุมชนรอบๆ เช่นเดียวกับการตรวจในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ในทุกพื้นที่ ผลการตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนของสารทูโลอีน แต่ในบางพื้นที่ตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย ชนิด 1,3 - บิวทาไดอีน แต่อยู่ในระดับต่ำ

2.2 กรมควบคุมมลพิษได้ดำเนินการติดตามตรวจสอบก๊าซคลอรีนจากการรั่วไหลของสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์จากโรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในบริเวณโรงงานและในพื้นที่ชุมชน ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13.00 น. ผลการตรวจสอบไม่พบการปนเปื้อนของก๊าซคลอรีนในทุกพื้นที่

2.3 กรมควบคุมมลพิษ ได้ตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่ายตามค่ามาตรฐาน 9 ชนิด และค่าเฝ้าระวัง 19 ชนิด อย่างต่อเนื่อง และมีจอแสดงผลข้อมูลคุณภาพอากาศ จำนวน 4 สถานี ในจังหวัดระยอง ประกอบด้วย สถานีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุด สถานีศูนย์วิจัยพืชไร่ฯ สถานีสำนักงานเกษตรจังหวัดฯ และ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดระยอง พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายบางชนิดมีค่าสูงในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืนเฉพาะที่สถานีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุด

2.4 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนราชการ (กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง เทศบาลเมืองมาบตาพุด) ผู้ประกอบการ และผู้แทนจากชุมชนในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งน้ำ อากาศ และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ โดยได้กำหนดแผนการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างวันที่ 8 — 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

2.5 กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้ดำเนินการทบทวนแผนปฏิบัติการฉุกเฉินและเตือนภัยจากสารพิษในระดับพื้นที่และระดับชุมชน รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงาน เพื่อแปรผลข้อมูลคุณภาพอากาศและเผยแพร่สู่ชุมชนรวมทั้งมีการเตรียมความพร้อมและซักซ้อมการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการในระดับต่างๆ เป็นระยะ

2.6 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมควบคุมมลพิษและกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) และกระทรวงอุตสาหกรรม (กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการดำเนินโครงการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers, PRTR) ในการดำเนินการจัดทำทะเบียนการปลดปล่อยมลพิษ และการฝึกอบรมการสื่อสารความเสี่ยง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่ โดยดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งจะได้แนวทางในการดำเนินการควบคุมการปลดปล่อยสารมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ในระยะยาว

2.7 กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการตรวจสอบการควบคุมและการป้องกันการรั่วไหลของสารมลพิษประเภทสารอินทรีย์ระเหยง่ายในโรงงานอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการเก็บ การใช้ และการปลดปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย ตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง ที่โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จะต้องดำเนินการปรับลดมลพิษให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ตลอดจนการควบคุมดูแลการระบายมลพิษและการรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีพิเศษ เช่น การปิดซ่อมบำรุง การเริ่มเดินระบบ และการขนถ่ายสารเคมีระหว่างเรือและถังเก็บสารเคมี เป็นต้น

2.8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณ เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง ปี 2555 — 2559 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ