คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความคืบหน้าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ครั้งที่ 3 ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบหมายให้คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คอป. ได้เสนอรายงานแล้ว รวม 2 ครั้ง ดังนี้ (1) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2553-16 มกราคม 2554 (2) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554-16 กรกฎาคม 2554 โดยรายงานครั้งที่ 2 มี ปคอป. เป็นผู้ประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. รวมทั้งพิจารณารายละเอียดข้อเสนอแนะของ คอป. เพื่อมอบหมายการดำเนินการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการต่อไปโดยเร็ว
2. ข้อเสนอแนะของ คอป. ในรายงานครั้งที่ 3 มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
(1) ปัญหาความขัดแย้งยังคงดำเนินอยู่และบรรยากาศของความปรองดองยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย คอป. จึงเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับและควบคุมการใช้อำนาจรัฐ สื่อมวลชน กลุ่มบุคคล และองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันประคับประคองสถานการณ์ความขัดแย้ง และให้ความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศของความปรองดองในชาติ โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง
(2) การตอบรับต่อข้อเสนอที่ไม่ให้ใช้เครื่องพันธนาการหรือการตีตรวนกับผู้ต้องหาหรือจำเลยของกรมราชทัณฑ์ รวมถึงข้อเสนอให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก
(3) องค์กรในกระบวนการยุติธรรมยังมีการกำหนดให้มีหลักประกันอันเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเสมอมานั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก กล่าวคือ เป็นช่องว่างให้นายประกันอาชีพและบริษัทประกันภัยฉวยโอกาสเข้าไปแสวงหาประโยชน์กับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
(4) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ได้เสนอให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อขจัดเงื่อนไขปัญหาของสังคม อันจะเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองและสันติของคนในชาติต่อไป
(5) การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รัฐควรใช้มิติการสงเคราะห์เข้าขจัดความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่หลักของรัฐโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
(6) การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นรายเดือนมีความเหมาะสมมากกว่าการเยียวยาด้วยเงินจำนวนมากในครั้งเดียว เนื่องจากเงินที่ใช้ในการเยียวยาเป็นรายเดือนนั้นจะปรากฏในงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีของรัฐ รัฐบาลและรัฐสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีจะได้ร่วมกันรำลึกและตระหนักในการขอโทษต่อประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงเพื่อนำไปสู่การให้อภัยอย่างแท้จริง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤษภาคม 2555--จบ--