รายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 9, 2012 11:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2554 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. รายงานว่า ได้จัดทำรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ประจำปี พ.ศ. 2554 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ประเทศไทยยังคงมี 3 สถานะในกระบวนการค้ามนุษย์ (สถานะประเทศต้นทาง สถานะประเทศปลายทาง และสถานะทางผ่าน) แต่มีลักษณะเป็นประเทศปลายทางมากกว่าประเทศต้นทาง โดยมีผู้เสียหายต่างชาติในประเทศไทย จำนวน 279 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวลาว และมีผู้เสียหายคนไทยในต่างประเทศ จำนวน 46 คน ส่วนใหญ่ถูกแสวงประโยชน์ในประเทศญี่ปุ่น สำหรับรูปแบบการค้ามนุษย์ยังเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีมากที่สุด โดยจับกุมผู้ต้องหาได้ 155 คน ทั้งนี้ การส่งกลับผู้เสียหายจะต้องรอจากประเทศต้นทาง 108 คน และรอเป็นพยานในการดำเนินคดี 74 คน

2. ผลการดำเนินการ แผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี 2554 บ่งชี้ให้เห็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐทั้ง 11 หน่วย ตั้งแต่การป้องกัน ซึ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงทั้งกลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย กลุ่มแรงงานต่างด้าวในภาคประมง กลุ่มเด็ก กลุ่มภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมประมง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานปลัดกระทรวง พม.

3. ด้านการดำเนินคดี ได้เพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากรในการบังคับใช้กฎหมายให้ครอบคลุมทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การช่วยเหลือ การสืบสวนสอบสวน การดำเนินคดี การคุ้มครองสิทธิ และการตัดสิน ซึ่งมีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ ตช. กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวง พม. กต. กรมการปกครอง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) และศาล การคุ้มครองให้ความสำคัญกับกระบวนการฟื้นฟูและมาตรการทางกฎหมายเพื่อสร้างความร่วมมือกับผู้เสียหายในการดำเนินคดี พร้อมกับความร่วมมือในการจัดการรายกรณี (case management) เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การช่วยเหลือผู้เสียหาย และลดข้อจำกัดในการส่งกลับภูมิลำเนา หน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มท. และ รง.

4. ด้านนโยบาย ได้ให้ความสำคัญในมาตรการพิสูจน์สัญชาติ การออกข้อบังคับรองรับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และความร่วมมือระหว่างประเทศในลักษณะทวิภาคีต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ คือ รง. อส. และสำนักงานปลัดกระทรวง พม.

5. แนวทางการดำเนินงานต่อไป

5.1 เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่น ในการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

5.2 พัฒนามาตรฐานการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทั้งกระบวนการ

5.3 สร้างผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินคดี พิจารณา และพิพากษาคดีค้ามนุษย์ และผลักดันให้มีการจัดตั้งสำนักงานคดีอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ใน อส. และแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา เพื่อให้การดำเนินคดีมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

5.4 สร้างระบบการจัดเก็บ และระบบข้อมูลการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุง พัฒนาการทำงานในเชิงรุก

5.5 ผลักดันให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารเพื่อป้องกัน ปราบปราม และลงโทษการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก พ.ศ. 2543

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ