ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่อง การยื่นแผนงานการรื้อถอนและประมาณการค่าใช้จ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2012 11:48 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่อง การยื่นแผนงานการรื้อถอนและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบ

กิจการปิโตรเลียมออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยเรื่อง การยื่นแผนงานการรื้อถอนและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมออกตามความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. กำหนดบทนิยามคำว่า “รื้อถอน” “สิ่งติดตั้ง” “สิ่งปลูกสร้าง” “อุปกรณ์” “สิ่งอำนวยความสะดวก” “ปริมาณสำรองปิโตรเลียมทั้งหมด” เป็นต้น (ร่างข้อ 1)

2. กำหนดให้แผนงานการรื้อถอนต้องประกอบด้วยรายละเอียดตามหัวข้อที่กำหนดในเอกสารแนบท้ายกฎกระทรวง (ร่างข้อ 2)

3. กำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาให้ผู้รับสัมปทานยื่นแผนงานการรื้อถอนเพื่อขอความเห็นชอบจากอธิบดี กำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์หนังสือแจ้งของอธิบดีและผลของการอุทธรณ์ และกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาแผนงานการรื้อถอนของอธิบดี และอำนาจของอธิบดีในการสั่งให้แก้ไขแผนงานการรื้อถอน (ร่างข้อ 4 ถึงร่างข้อ 6)

4. กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ปฏิบัติตามกระบวนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน (Decommissioning Environmental Management Process) ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด โดยต้องจัดทำเอกสาร ดังนี้

4.1 รายงานผลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน (Decommissioning Environmental Assessment Report)

4.2 รายงานการพิจารณาวิธีการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่เหมาะสมที่สุดจากวิธีการรื้อถอนที่กำหนดไว้ในรายงานผลการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอน

4.3 แผนการจัดการสิ่งแวดล้อม (Decommissioning Environmental Management Plan) และแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังการรื้อถอน (Post Decommissioning Monitoring Plan)(ร่างข้อ 10)

5. กำหนดให้ผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการรื้อถอนตามแผนงานการรื้อถอนโดยละเอียดตามที่ได้รับความเห็นชอบ โดยผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักเทคนิคและวิธีการปฏิบัติงานปิโตรเลียมที่ดี และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับจากวันที่สิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม หรือสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อ แล้วแต่กรณี (ร่างข้อ 12 และร่างข้อ 15)

6. กำหนดให้ผู้รับสัมปทานที่ถูกเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียมตามมาตรา 51 หรือมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เริ่มดำเนินการรื้อถอนหรือดำเนินการอื่นใดภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และ รื้อถอนให้แล้วเสร็จภายในห้าปีนับจากวันที่ถูกเพิกถอนสัมปทานปิโตรเลียม (ร่างข้อ 17)

7. กำหนดให้ผู้รับสัมปทานยื่นรายงานผลการปฏิบัติการรื้อถอน (Closeout Report for Decommissioning) และรายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายหลังการรื้อถอน (Closeout Report for Post-decommissioning) ต่ออธิบดีเพื่อขอความเห็นชอบ (ร่างข้อ 18 ถึงร่างข้อ 19)

8. กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิต ทรัพย์สิน หรือสิ่งอื่นใด หากพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่เหลืออยู่ภายหลังจากการรื้อถอนนั้นก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นเหตุ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายดังกล่าว(ร่างข้อ 24)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ