การให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 15, 2012 13:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก

(Economic Research Institute for ASEAN and East Asia : ERIA )

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้การสนับสนุนด้านงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมของ ERIA เต็มจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในครั้งเดียวตามที่ พณ. เสนอ โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 1,550,000 บาท หรือเท่ากับ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 31 บาท หรือตามสกุลเงินท้องถิ่น กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการส่งเสริมให้นักวิจัยหรือสถาบันวิจัยของไทยได้มีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยกับ ERIA รวมทั้งส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยเหล่านั้นไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

พณ. รายงานว่า

1. ERIA จัดตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2007 (EAS ประกอบด้วย 16 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกาและรัสเซียได้เข้าร่วมด้วยรวมเป็น 18 ประเทศ

2. วัตถุประสงค์ของ ERIA มีดังต่อไปนี้

2.1 สนับสนุนการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างแน่นแฟ้น (Deepening Economic Integration)

2.2 มุ่งลดช่องว่างของระดับการพัฒนา (Narrowing Development Gaps) และ

2.3 สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Economic Development)

3. ปัจจุบัน ERIA มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ (International Organization : IO) มีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนการรวมกลุ่มของอาเซียนและเอเชียตะวันออกโดยการทำการศึกษา/วิจัย ตามหัวข้อที่ประเทศสมาชิกเวทีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกเสนอแนะนำ ทั้งนี้ ERIA มีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับสถาบันวิจัยของประเทศสมาชิกเอเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

4. กลไกการบริหารงานสูงสุดของ ERIA ได้แก่ Governing Board ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ของทั้ง 16 ประเทศ และ Executive Director หรือ นาย Hidetoshi Nishimura

5. งบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการในช่วง 5 ปีแรกของการก่อตั้ง (2551 - 2555) ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนจำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ประเทศคู่เจรจาอื่น ๆ ได้มีการให้เงินทุนสมทบด้วยบางส่วน ได้แก่ ประเทศนิวซีแลนด์ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ ประเทศอินเดีย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศออสเตรเลีย 894,400 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนยังไม่มีการใช้เงินทุนสมทบทุนใด ๆ

6. ในการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ครั้งที่ 6 (6th Meeting of the AEC Council) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554 ณ เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ERIA ได้ขอการสนับสุนด้านงบประมาณจากสมาชิก ASEAN ประเทศละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 ปี (10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) เนื่องจากที่ผ่านมา ERIA ได้จัดทำการศึกษาให้อาเซียนแล้วหลายเรื่อง และขณะนี้เงินที่จะใช้ในการศึกษาวิจัยใกล้หมดลงแล้ว

7. ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ณ กรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ที่ประชุมเห็นร่วมกันให้แต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ ERIA ประเทศละ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระยะ 5 ปี โอยอาจสนับสนุนปีละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ เต็มจำนวนครั้งเดียวก็ได้

8. ERIA ได้ทำการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจในอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในช่วงปี 2554 — 2555 ERIA มีแผนงานวิจัย เช่น

8.1 การศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนการทบทวนแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Comprehensive Midterm Review of the AEC Blueprint) และการศึกษาวิจัยแนวทางการปรับปรุงการวัดผลการดำเนินงานตาม AEC Scorecard (Enhancement of the AEC Scorecard)

8.2 การศึกษาช่องว่างของกฎหมายภายในของแต่ละประเทศกับพันธกรณีที่ต้องดำเนินการตามความตกลงด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน (Study on Enhancing the implementation of ASEAN Agreement)

8.3 การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการที่มีความสำคัญลำดับแรกภายใต้แผนงานด้านต่าง ๆ ในการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เช่น แผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity Master plan) และแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งอาเซียน (ASEAN Strategic Transport Plan) เป็นต้น

9. พณ. พิจารณาแล้วเห็นว่า ERIA เป็นองค์กรที่จัดทำการศึกษาอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของอาเซียนและยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนั้น เพื่อให้ ERIA สามารถดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ