คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2555 ตามที่ (รองนายกรัฐมนตรี (นายกิติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรี (นายกิติรัตน์ ณ ระนอง) ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติรายงานว่า กนป. ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 เมษายน 2555 สรุปผลการประชุมได้ดังนี้
1. เรื่องเพื่อทราบ
1.1 รับทราบมติ กนป. ครั้งที่ 10/2554 (ครั้งที่ 15) เรื่องการแต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ
1.2 รับทราบผลการดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานอย่างยั่งยืน และมอบหมายให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ดำเนินการโครงการฯอย่างต่อเนื่องและขยายโครงการให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมากขึ้น โดยขอสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
1.3 รับทราบมติคณะอนุกรรมการน้ำมันพืชบริโภค เรื่อง การกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันพืชปาล์ม ดังนี้
1.3.1 ค่าวัตถุดิบน้ำมันปาล์มดิบ คำนวณจากอัตราแปรสภาพน้ำมันบริสุทธิ์ 1 ลิตร ใช้น้ำมันปาล์มดิบ 1.58 กิโลกรัม หักผลพลอยได้จากสเตียรีน 0.56 กิโลกรัม และกรดปาล์ม 0.08 กิโลกรัม ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ผันแปรตามราคาวัตถุดิบและผลพลอยได้
1.3.2 ค่าใช้จ่ายการผลิต ประกอบด้วย ค่าภาชนะบรรจุ ค่าแรงงาน ค่าผลิต ค่าใช้จ่ายการขายและบริการ รวมทั้งสิ้น 9.01 บาท/ขวดลิตร
1.3.3 ส่วนเสื่อมการตลาดและกำไร 3.50 บาท/ขวดลิตร
2. เรื่องเพื่อพิจารณา
2.1 เรื่อง การกำหนดระดับสต๊อกน้ำมันปาล์ม กนป. มีมติให้กำหนดเกณฑ์การพิจารณาปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบภายในประประเทศ 3 ระดับ และให้ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ใช้ในการติดตามสถานการณ์น้ำมันปาล์มของประเทศ ดังนี้
2.1.1 ระดับปกติ 1.5 เท่าของความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบต่อเดือน (202,500 ตัน)
2.1.2 ระดับเตือนภัย 1.25 เท่าของความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบต่อเดือน (168,750 ตัน)
2.1.3 ระดับวิกฤติ ต่ำกว่า 1 เท่าของความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบต่อเดือน (?135,000 ตัน)(ปี 2555 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยเดือนละ 135,000 ตัน เป็นฐานคำนวณ)
ทั้งนี้ ให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มรายงานข้อมูลสต็อกน้ำมันปาล์มให้ พณ. ทุก 15 วัน
2.2 เรื่อง การเปิดตลาดน้ำมันปาล์มและน้ำมันเนื้อในเมล็ดปาล์ม ปี 2555 กนป. มีมติว่า
2.2.1 กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ให้เปิดตลาดนำเข้าทั้งปริมาณและอัตราภาษีตามข้อผูกพัน คือปริมาณในโควตา 4,860 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 20 นอกโควตาร้อยละ 143 การบริหารการนำเข้าให้องค์การคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้าและกระจายให้ผู้ผลิตภายในประเทศตามที่สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์มจัดสรร
2.2.2 กรอบการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ให้เปิดตลาดเสรีนำเข้าไม่มีโควตาภาษี อัตราภาษีร้อยละ 0
2.2.3 กรอบเขตการค้า FTA
(1) อาเซียน — จีน ปริมาณเปิดตลาดนำเข้าตามข้อผูกพัน WTO อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 20 และอัตราภาษีนอก
โควตาร้อยละ 143
(2) ไทย — AUS — NZ เสรีนำเข้าและไม่มีโควตาภาษีอัตราภาษีนำเข้า ร้อยละ 0 โดยกรอบการค้า ไทย -
ออสเตรเลีย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 กรอบการค้า ไทย - นิวซีแลนด์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่
วันที่ 1 กรกฎาคม 2558
(3) ไทย - ญี่ปุ่น ปริมาณเปิดตลาดนำเข้าตามกรอบ WTO ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 - 31 มีนาคม 2556
อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 9.09 และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 143
(4) ไทย - เกาหลี ปริมาณเปิดตลาดนำเข้าตามกรอบ WTO อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 8.89
และอัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 143
2.2.4 การบริหารการนำเข้าตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และกรอบเขตการค้า FTA ให้บริหารการนำเข้าเช่นเดียวกับกรอบองค์การการค้าโลก WTO
2.2.5 ให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ พณ. และกระทรวงการคลังเพื่อทราบและดำเนินการต่อไป
2.3 เรื่อง แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์ม กนป. มีมติให้ พณ. ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยแนวทางดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และสอดคล้องกับโครงสร้างราคาน้ำมันปาล์มที่ พณ. เสนอ ตามข้อ 1.3 และให้นำผลการหารือเข้าพิจารณาใน กนป. ครั้งต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 พฤษภาคม 2555--จบ--