ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 4/2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2012 14:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2555 ณ จังหวัดกาญจนบุรี

2. เห็นชอบตามมติที่ประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 4/2555 ณ จังหวัดกาญจนบุรี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามมติที่ประชุม และรายงานผลการดำเนินงานให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

          ผลการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ครั้งที่ 4/2555 ใน วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2555  เวลา 17.20 — 19.10 น. ณ ห้องชุมไพลิน ชั้น 3 อาคาร 9 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ณ จังหวัดกาญจนบุรี มีรายละเอียดข้อเสนอเพื่อพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สรุป          สาระสำคัญดังนี้

1. ข้อเสนอภาคเอกชน (เสนอโดย กกร./สทท.) ประกอบด้วย 9 เรื่อง ดังนี้

1.1 การพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย

1) ข้อเสนอ

ขอรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของประเทศไทยในการให้บริการโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยจังหวัดกาญจนบุรีถือเป็นประตูเชื่อมโยงสู่เมียนมาร์และทะเลอันดามัน การพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 (ปี 2554 — 2558) ครอบคลุมท่าเรือด้านใต้ ถนนเชื่อมโยงทวาย — ชายแดนไทย/เมียนมาร์ 4 ช่องจราจรด่านพรมแดน ถนนเชื่อมโยงสนามบินทวาย อ่างเก็บน้ำขนาด 93 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าถ่านหินถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำ โรงบำบัดน้ำประปา/น้ำเสีย ที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ และการพัฒนาเมืองและชุมชน ระยะที่ 2 (ปี 2556 — 2561) ครอบคลุมถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำเพิ่มเติม ถนนเชื่อมโยงทวาย — ชายแดนไทย/เมียนมาร์ขยายเป็น 8 ช่องจราจรสร้างศูนย์การค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ และระยะที่ 3 (ปี 2559 — 2563) ครอบคลุม ท่าเรือด้านเหนือ ถนนในเขตอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำเพิ่มเติม รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซและท่อน้ำมันเชื่อมโยงประเทศไทย

2) มติที่ประชุม

เห็นชอบการสนับสนุนการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนพัฒนาความเชื่อมโยงของไทยกับท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายรวมทั้งบูรณาการแผนงานและโครงการโดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1.2 การเร่งรัดการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงภาคตะวันตก (กกร.)

1) ข้อเสนอ

ขอรับการสนับสนุนและเร่งรัดการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงภาคตะวันตกประกอบด้วย (1) โครงการก่อสร้างทางมอเตอร์เวย์ หมายเลข 81 เส้นทาง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี — บ้านห้วยตลุง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (2) ผลักดันโครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ (ช่วงที่ 2) เส้นทางบ้านห้วยตลุง อำเภอท่าม่วง — บ้านพุน้ำร้อน อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทาง 70 กิโลเมตร และ (3) ผลักดันโครงการขยายถนนเป็น 4 ช่องจราจรจากบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี ทางหลวงหมายเลข 3208 บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) จังหวัดราชบุรี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเชื่อมโยงโลจิสติกส์ลงสู่ภาคใต้

2) มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงคมนาคม พิจารณาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับการพัฒนาท่าเรือทวายและการเปิดด่านบ้านพุน้ำร้อน พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของถนนสายทางหลักและสายทางรอง และเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

1.3 การเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย และการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ Southern Economic Corridor (SEC) (กกร.)

1) ข้อเสนอ

ขอให้เร่งรัดและผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (หรือเขตอุสาหกรรม) บ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจ Southern Economic Corridor (SEC) ทวาย — กาญจนบุรี — กรุงเทพฯ — พนมเปญ — โฮจิมินท์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านการค้าการลงทุนชายแดนในอนาคต รวมทั้ง ยกระดับด่านชั่วคราวบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นด่านถาวรโดยเบื้องต้นเฉพาะวันจันทร์ พุธ และศุกร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจภาคตะวันตก

1.4 การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดน ไทย — พม่า (กกร.)

1) ข้อเสนอ

ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน (1) ยกระดับด่านชั่วคราวพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นด่านถาวร (2) ยกระดับด่านสิงขร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นด่านถาวร และ(3) เปิดจุดผ่อนปรนบ้านตะโกบน (กะลาโท่) บ้านตะโกล่าง หมู่ที่ 8 ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี (เฉพาะวันจันทร์ พุธ และศุกร์) เนื่องจากเป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันตกของไทยที่มีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนสูง โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้

2) มติที่ประชุม

(1) มอบหมายการทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการยกระดับเป็นจุดผ่านแดนระหว่างไทย — เมียนมาร์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์ต่อไป

(2) รับทราบแนวทางการดำเนินงานของกองกำลังสุรสีห์ กระทรวงกลาโหม ในการแก้ไขปัญหาร่วมกับเมียนมาร์ เพื่อให้มีการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวพระเจดีย์สามองค์และเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความพร้อม เห็นควรส่งเรื่องให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ พิจารณาความเหมาะสมในการยกระดับเป็นจุดผ่านแดนถาวรต่อไป และมอบหมายกระทรวงกลาโหมประสานกับกระทรวงมหาดไทยในด้านความมั่นคงอย่างใกล้ชิด

(3) มอบหมายกระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ติดตามและประเมินสถานการณ์การพัฒนาในเมียนมาร์ ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง และหากเห็นสมควรให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนการค้าตะโกบนให้ดำเนินการตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป

(4) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับไปพิจารณาถึงผลกระทบจากการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทย — เมียนมาร์ โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาความสามารถแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย

1.5 โครงการลดการสูญเสียในวงจรการผลิต และโครงการบริหารจัดการพลังงานแบบบูรณาการเพื่อลดต้นทุนและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานชีวมวล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรม (กกร.)

1) ข้อเสนอ

(1) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการลดการสูญเสียในวงจรการผลิต วงเงิน 12 ล้านบาท (ผ่านกระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรม) เพื่อว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแก่โรงงานนำร่องใน 8 จังหวัด (กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2) เพื่อลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลิตภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน

(2) ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบริหารจัดการพลังงานแบบบูรณาการเพื่อลดต้นทุนและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน หรือพลังงานชีวมวล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรม วงเงิน 16 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (ปีงบประมาณ 2555-2557) เพื่อดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานแบบบูรณาการในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2 จำนวน ทั้งสิ้น 90 โรงงาน (ปีละ 30 โรงงาน) และมีโรงงานนำร่องในการนำพลังงานทดแทนหรือก๊าซชีวมวลมาใช้ในกระบวนการผลิต จำนวน 12 โรงงานต่อปี เพื่อลดต้นทุนและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานชีวมวล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรม

2) มติที่ประชุม เห็นชอบในหลักการตามข้อเสนอของภาคเอกชน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปดำเนินการดังนี้

(1) มอบหมายกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมนำโครงการลดการสูญเสียในวงจรการผลิต ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

(2) มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงพลังงานรับไปพิจารณาดำเนินการในรายละเอียดของการดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในโรงงานอุตสาหกรรม สามารถลดต้นทุนและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานชีวมวล

1.6 การส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในกลุ่มภาคกลางตอนล่าง (กกร.)

1) ข้อเสนอ

ขอรับการสนับสนุน (1) โครงการปรับปรุงระบบนิเวศคลองดำเนินสะดวก และคลองสาขา จ.ราชบุรี-สมุทรสาคร-สมุทรสงคราม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพร่องน้ำ ระบายน้ำ และป้องกันน้ำท่วม (2) การพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการของแม่น้ำท่าจีนในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 โดยการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจัดทำศูนย์ปฏิบัติการ War Room ประมาณการน้ำ คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนประชาชนเพื่อขจัดปัญหาสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และประสบปัญหาของน้ำเน่าเสียในฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี และ (3) โครงการนำร่องสู่อุตสาหกรมเชิงนิเวศ พื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 1 และ 2 เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 8 จังหวัด วงเงิน 25 ล้านบาท เพื่อนำร่องให้โรงงานเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industry)

2) มติที่ประชุม

(1) มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพคลองตาหลวงจากสำนักงบประมาณ ภายใต้กรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยตามขั้นตอนต่อไป

1.7 โครงการถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จังหวัดสมุทรสาคร — สมุทรสงคราม (Royal Coast Road) (กกร.)

1) ข้อเสนอ

ขอรับการสนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินงาน ดังนี้ (1) เร่งรัดการดำเนินงานโครงการถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย (Royal Coast Road) ให้แล้วเสร็จในปี 2558 (2) เสนอให้เชื่อมต่อโครงการถนนเลียบชายทะเลจากจังหวัดสมุทรสาครให้เป็นระบบเดียวกันโดยเสนอเส้นทางเชื่อมโยงภายในจังหวัดสมุทรสาคร ประกอบด้วย (1) ก่อสร้างถนนช่วงตำบลบางกระเจ้า — ตำบลกาหลง — ตำบลบางโทรัด — ตำบลนาโคก เพื่อเชื่อมต่อกับถนนเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม — ถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 ที่หลักกิโลเมตร 50+000 และ (2) ปรับปรุงเส้นทางทางหลวงชนบทสาย สค.2020 ช่วงตำบลบางหญ้าแพรก (ฝั่งตะวันตกแม่น้ำท่าจีน) — ตำบลบางกระเจ้า เพื่อเชื่อมต่อกับถนนพระราม 2 ทางหลวงหมายเลข 35 ที่หลักกิโลเมตร 38+650

2) มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงคมนาคม รับไปศึกษารายละเอียดของโครงการถนนท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จังหวัดสมุทรสาคร — สมุทรสงคราม (Royal Coast Road) เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

1.8 ประกาศเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหินและพื้นที่เชื่อมโยง (ชะอำและปราณบุรี) (สทท.)

1) ข้อเสนอ

ขอให้พิจารณาประกาศเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองหัวหินและพื้นที่เชื่อมโยง (อำเภอชะอำและปราณบุรี) เพื่อส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายในพื้นที่และเกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมภายใต้ความสมดุลของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีบูรณาการยั่งยืน โดยอาจมอบหมายให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) เป็นผู้บริหารจัดการเพื่อกำหนดแผนงานและงบประมาณในการดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

2) มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาดำเนินการประกาศเมืองหัวหินและพื้นที่เชื่อมโยง (ชะอำ — ปราณบุรี) ภายในกลุ่มท่องเที่ยว The Royal Coast ให้เป็นเขตพื้นที่พิเศษตามขั้นตอนต่อไป

1.9 การปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ จังหวัดกาญจนบุรีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชีวิต (สทท.)

1) ข้อเสนอ

ขอให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชีวิต เนื่องจากปัจจุบันได้เสื่อมโทรมไปตามระยะเวลาจำเป็นต้องบูรณะปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์ เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และความเป็นเอกราชของชาติไทย โดยมีรูปแบบที่ทันสมัย นำเสนอด้วยเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ประสบการณ์เสมือนจริง กระตุ้นให้ผู้เข้าชมได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาความคิด ให้เกิดความรักชาติ ความสามัคคี และความกตัญญูต่อแผ่นดินไทยและบูรพกษัตริย์ไทย รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดกาญจนบุรี

2) มติที่ประชุม

มอบหมายกระทรวงกลาโหม ขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพ จังหวัดกาญจนบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชีวิต โดยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ในรายละเอียดของการจัดแสดงนิทรรศการด้วย

2. เรื่องอื่น ๆ ที่ภาคเอกชนเสนอเพิ่มเติม (กกร.) รวม 2 ประเด็น ดังนี้

2.1 ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. ... (ผลกระทบตามประกาศ Financial Action Task Force: FATF)

1) ข้อเสนอ

ขอให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. …. เร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ ซึ่ง กกร. และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

2) มติที่ประชุม

รับทราบตามที่ กกร. เสนอ โดยให้นำความเห็นที่ประชุมไปประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ซึ่งจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว

2.2 การปรับกลไกและกระบวนการบริหารจัดการด้าน Climate Change ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย กำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยสมัครใจ และจัดทำแผนแม่บทการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ได้แก่ (1) การแต่งตั้งประธานบริหารเพื่อการขับเคลื่อนการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับชาติ (National Chief Climate Change Officer) (2) การจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิบัติการในองค์รวมซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มเวลา และ (3) การเพิ่มเติมองค์ประกอบกรรมการ/คณะทำงานร่วมจากภาคเอกชนในคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยร่วมกับภาคเอกชนอย่างบูรณาการ

มติที่ประชุม มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับข้อเสนอของกกร. ไปพิจารณาดำเนินการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ