แนวทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2012 15:08 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง แนวทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

(โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอดังนี้

1. เห็นชอบหลักการของแนวทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์และการสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของเมียนมาร์

2. มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ รวมทั้งบูรณาการแผนงานที่เกี่ยวข้อง โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง

สศช. รายงานว่า ปัจจุบันเมียนมาร์มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการปฏิรูปโครงสร้างทางการการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายซึ่งภาคเอกชนไทยได้รับสัมปทานในการพัฒนาโครงการที่เป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวที่มีกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่จะรองรับเงินลงทุนต่างชาติ โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นโอกาสในอนาคตสำหรับการขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำ และพัฒนาเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง สศช. จึงเห็นควรเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกของไทยกับโครงการทวายฯ ของเมียนมาร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ตั้งอยู่ที่เมืองทวายในเขตตะนาวศรีของเมียนมาร์ห่างจากด่านผ่านแดน (บ้านพุน้ำร้อน) จังหวัดกาญจนบุรี โดยบริษัทเอกชนของไทยได้ลงนามในกรอบความตกลง (Framework Agreement) ร่วมกับ การท่าเรือเมียนมาร์ โดยมีแผนปฏิบัติการก่อสร้างแบ่งเป็น 3 ระยะในช่วง 10 ปี ได้แก่

ระยะที่ 1 (ปี 2554-2558) : ครอบคลุมท่าเรือด้านใต้ ถนนเชื่อมโยงทวาย — ชายแดนไทย / พม่า 4 ช่องจราจร ด่านพรมแดน ถนนเชื่อมโยงสนามบินทวาย อ่างเก็บน้ำ ขนาด 93 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำ ระบบประปา โรงบำบัดน้ำเสีย ที่พักอาศัย พื้นที่ส่วนราชการแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) และ Township

ระยะที่ 2 (ปี 2556-2561) : ครอบคลุมถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำเพิ่มเติม ถนนเชื่อมโยงทวาย — ชายแดนไทย/ พม่าขยายเป็น 8 ช่องจราจร สร้างศูนย์การค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ

ระยะที่ 3 (ปี 2559-2563) : ครอบคลุมท่าเรือด้านเหนือ ถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำเพิ่มเติม รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซและท่อน้ำมันเชื่อมโยงประเทศไทย

2. ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาคและเป็นสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกกับประเทศในฝั่งตะวันตก (เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป) โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยอีกประมาณร้อยละ 1.9 ในเบื้องต้น โดยสรุปสาระสำคัญของโครงการฯ ต่อประเทศไทย ได้ดังนี้

2.1 โอกาสที่จะขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Off — shore Production Base) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็กและเหล็กกล้า เพื่อสนับสนุนการผลิตของฐานอุตสาหกรรมภายในประเทศ

2.2 พัฒนาเป็นประตูการค้า (Gateway) ฝั่งตะวันตกเชื่อมโยงกับท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเปิดประตูการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในเมียนมาร์และฝั่งตะวันตก

2.3 พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกโดยสามารถขยายความเจริญด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาอุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนของไทย

3. ความคืบหน้าการดำเนินโครงการ

3.1 การดำเนินการของเมียนมาร์

(1) ด้านกฎหมายการลงทุน เมียนมาร์ได้ออกกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone Law) กับกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei Special Economic Zone Law) โดยให้สิทธิประโยชน์เบื้องต้นกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจ

(2) ระบบการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลเมียนมาร์ขอความช่วยเหลือจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดย IMF ได้เข้ามาสำรวจระบบการเงินของเมียนมาร์แล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2554 และจะดำเนินการอีกครั้งในช่วงต้นปี 2555

3.2 การดำเนินการของไทย

ภาครัฐ

(1) การเปิดจุดผ่านแดนที่บ้านพุน้ำร้อนและข้อยุติประเด็นเส้นเขตแดนระหว่างไทย — พม่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวบ้านพุน้ำร้อน ซึ่งขออนุญาตโดยบริษัทเอกชนของไทยเพื่อขนวัสดุและแรงงานสำหรับก่อสร้างโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย และขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาฯ ได้ประสานขอคามร่วมมือสหภาพเมียนมาร์ให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมจัดทำ Detiled Survey ร่วมกับประเทศไทย (โดยกรมแผนที่ทหาร) ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วช่วงต้นเดือนมีนาคม 2555 โดยจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 30-60 วัน

(2) การเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อกับสหภาพเมียนมาร์

1) การขนส่งทางถนน : ปัจจุบันโครงข่ายถนนจากกรุงเทพฯ — ชายแดนไทย / เมียนมาร์ ระยะทาง 169 กิโลเมตร ส่วนใหญ่มีขนาด 4 ช่องจราจร

2) การขนส่งทางรถไฟ : ตามผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบรถไฟ กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้มีการพัฒนาแนวเส้นทางรถไฟสายน้ำตก - ด่านเจดีย์สามองค์ ระยะทาง 135 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงกับเมียนมาร์แต่ยังไม่มีการศึกษาเส้นทางต่อขยายไปยังบ้านพุน้ำร้อน

3) ระบบสายส่งไฟฟ้า : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างการเจรจาอัตราซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐบาลเมียนมาร์และผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนถ่านลิกไนต์ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย

(3) การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณชายแดน : สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินโครงการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

(4) มาตรการส่งเสริมนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) อยู่ระหว่างวางแผนศึกษาและดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลและให้คำปรึกษาสำหรับนักลงทุนไทยในต่างประเทศในปีงบประมาณ 2556

ภาคเอกชน

(5) การจัดตั้งหน่วยงานพัฒนาโครงการ ภาคเอกชนไทยดำเนินการจัดตั้งบริษัททวายดีเวลลอปเมนต์ (Dawei Development Company Limited : DDC) ซึ่งมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่กว่าร้อยละ 70 โดย บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ และส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 30 ถือหุ้นโดยบริษัทเอกชนของเมียนมาร์

(6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันภาคเอกชนไทยได้ก่อสร้างถนนลูกรัง(Service Road) ระหว่างเมืองทวายและบ้านพุน้ำร้อน สำหรับการขนส่งวัสดุก่อสร้างในระหว่างดำเนินโครงการ และได้จัดทำรายละเอียดโครงการก่อสร้างถนนและท่าเรือน้ำลึกแล้วเสร็จ ซึ่งประเมินวงเงินทั้งสองโครงการในเบื้องต้นประมาณ 90,000 ล้านบาท

4. แนวทางการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจเชื่อมโยงฝั่งตะวันตกกับเมียนมาร์

4.1 กำหนดเป็นแนวนโยบายสำคัญของรัฐบาล : ในการสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายของเมียนมาร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่รัฐบาลเมียนมาร์รัฐบาลของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงนักลงทุนของไทยและต่างชาติ

4.2 กรอบมาตรการและแนวทางการดำเนินงานของฝ่ายไทย : ดำเนินการในเชิงรุกโดยกำหนดแผนงาน / โครงการที่มีลักษณะบูรณาการและต่อเนื่องกัน ภายใต้กรอบระยะเวลา วงเงินงบประมาณ และแหล่งเงินทุนที่ชัดเจน โดยควรดำเนินการ

(1) ระยะเร่งด่วนปี 2555 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนไทยได้รับโอกาสเป็นแกนนำในการพัฒนาโครงการ ให้สามารถเริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการนี้ได้สำเร็จลุล่วง ซึ่งมีประเด็นที่ต้องพิจารณาดำเนินการเร่งด่วน ดังนี้

1) การสร้างความร่วมมือในลักษณะรัฐต่อรัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการทวายฯ ของเมียนมาร์ โดยมอบหมาย กต. ผลักดันให้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่ายเพื่อกรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีต่อไป

2) การเร่งเจรจากับทางการของเมียนมาร์เพื่อเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวและถาวรควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อม ณ จุดผ่านแดนบ้านพุน้ำร้อน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคนและสินค้าข้ามแดนให้มีประสิทธิภาพโดยมอบหมาย กต. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ สมช. มท. กระทรวงกลาโหม และจังหวัดกาญจนบุรี ประสานงานกับทางการของเมียนมาร์เพื่อเร่งรัดการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราว และเจรจาเพื่อขอเปิดจุดผ่านแดนถาวรต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายกระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ มท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายคนและสินค้าข้ามแดนและผ่านแดนให้มีประสิทธิภาพ

3) การสนับสนุนนักลงทุนไทยไปลงทุนในเมียนมาร์ โดยมอบหมาย สกท เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งออกมาตรการด้านการเงินและการลงทุนเพื่อสนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ

4) ความช่วยเหลือทางการเงินโดยรัฐบาลไทยควรเร่งพิจารณาแนวทางการสนับสนุนเอกชนไทยในการพัฒนาฯ

(2) ระยะปานกลางช่วงปี 2556-2558 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อกับเมียนมาร์จากบริเวณชายแดนไทย-พม่า อย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วย ระบบถนน รถไฟ สายส่งไฟฟ้า ท่อก๊าซและท่อน้ำมัน รวมทั้งการเตรียมการพื้นที่เศรษฐกิจ ดังนี้

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มอบหมายให้ คค. กระทรวงพลังงาน และมท. กำกับการดำเนินงานในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดจัดทำโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงกับที่บ้านพุน้ำร้อนบริเวณชายแดนไทย — พม่า ได้แก่ ระบบถนน พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เชื่อมโยงด่านบ้านพุน้ำร้อนกับพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่ท่าเรือแหลมฉบังและแหล่งเศรษฐกิจฝั่งตะวันออกของไทย ระบบราง พัฒนาโครงข่ายขนส่งทางรางเชื่อมโยงกับด่านบ้านพุน้ำร้อน ระบบสายส่งไฟฟ้า พัฒนาแนวสายส่งไฟฟ้าที่มีความเหมาะสมเพื่อเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ากับพื้นที่ฯ และรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย ระบบท่อก๊าซและท่อน้ำมัน พัฒนาระบบท่อก๊าซ และท่อน้ำมันเชื่อมโยงกับพื้นที่ท่าเรือน้ำลึกทวายและประสานร่วมกับรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันตกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

2) ด้านการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณชายแดน พัฒนาประตูการค้าตามแนวชายแดนฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยและภูมิภาคและนำเสนอเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

5. การสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของเมียนมาร์ เพื่อสนับสนุนให้โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายประสบผลสำเร็จ รัฐบาลไทยควรพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินและวิชาการในประเด็นต่อไปนี้

5.1 การบริหารคมนาคมและขนส่ง โดยเฉพาะระบบถนนเชื่อมต่อสู่ด่านพรมแดน รวมทั้งการวางแผนการปรับปรุงสนามบินทวาย การพัฒนาโครงข่ายถนนและรถไฟเชื่อมโยงระหว่างทวายและเมืองสำคัญในเมียนมาร์

5.2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงิน ให้ความช่วยเหลือการพัฒนาระบบบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและระบบสถาบันการเงินตามมาตรฐานสากล

5.3 การวางแผนและยกระดับแรงงานชาวพม่า ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพให้สามารถรองรับการพัฒนาและขยายฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการค้าของไทยในอนาคตได้

5.4 การวางแผนระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ให้ความช่วยเหลือด้านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการและการจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น และนักลงทุนชาวตะวันตก เป็นต้น ในการลงทุนพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมทวาย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 พฤษภาคม 2555--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ