เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปราม
การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ที่ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
1.1 แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” “ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย” และ “ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด” (ร่างมาตรา 3 แก้ไจเพิ่มเติมมาตรา 3)
1.2 กำหนดให้คณะกรรมการ ปปง. มีอำนาจกำหนดนโยบายในการประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินที่อาจเกิดจากธุรกรรมบางประเภท (ร่างมาตรา 7 เพิ่มมาตรา 25 (1/1))
1.3 กำหนดมาตรการคุ้มครองพยานสำหรับผู้ให้ถ้อยคำหรือผู้ที่แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 8 เพิ่มมาตรา 37/1)
1.4 กำหนดให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจเกี่ยวกับการกำกับ ตรวจสอบ และประเมินการรายงานการทำธุรกรรม และวิเคราะห์ความเสี่ยงเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (ร่างมาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 40 (3) และ (4) และเพิ่มร่างมาตรา 10 เพิ่มเติมมาตรา 40 (3/1))
1.5 กำหนดให้ข้าราชการซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน (ร่างมาตรา 11 เพิ่มมาตรา 44 วรรคสาม)
1.6 กำหนดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสนับสนุนการดำเนินการของสำนักงาน ปปง. ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดหรือเพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด (ร่างมาตรา 12 เพิ่มมาตรา 46/1)
1.7 กำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบซึ่งมีอำนาจเปรียบเทียบปรับคดีความผิดตามมาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 (ร่างมาตรา 13 เพิ่มมาตรา 64/1 และมาตรา 64/2)
2. ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ. ....
2.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “ผู้มีหน้าที่รายงาน” “ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน” เป็นต้น (ร่างมาตรา 3)
2.2 กำหนดให้คณะกรรมการ ปปง. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีพิจารณาจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ก่อการร้าย เพื่อแจ้งให้ผู้มีหน้าที่รายงานดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)
2.3 กำหนดหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รายงานซึ่งได้แก่ สถาบันการเงินและผู้ประกอบอาชีพตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ดำเนินการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อก่อการร้าย (ร่างมาตรา 5)
2.4 กำหนดสิทธิของผู้ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน (ร่างมาตรา 8)
2.5 กำหนดหลักเกณฑ์การเข้าถึงทรัพย์สินของผู้ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน (ร่างมาตรา 9)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤษภาคม 2555--จบ--