คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดท่าหรือที่ สนามบินศุลกากร ทางอนุมัติ ด่านพรมแดน และด่านศุลกากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่า
1. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ วันที่ 16 ตุลาคม 2550 และวันที่ 18 มกราคม 2554 และกระทรวงคมนาคมได้กำหนดที่จะเริ่มเปิดให้บริการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ในวันที่ 1 เมษายน 2555 โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 ย้ายไปดำเนินงานของตนที่ท่าเรือดังกล่าว ซึ่งใช้ชื่อว่า “ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน” เพื่อให้การปฏิบัติงานของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนที่ก่อสร้างใหม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการนำของเข้า การส่งของออก หรือการส่งออก ซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้าหรือของที่มีทัณฑ์บน จึงเห็นสมควรกำหนดเขตศุลกากรของด่านศุลกากรเชียงแสนเพิ่มเติมที่บริเวณบ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน รวมทั้งกำหนดให้ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนเป็นด่านพรมแดนอีกแห่งหนึ่งโดยกำหนดทางอนุมัติ และด่านพรมแดนเพิ่มเติม
2. ตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตามแผนงานโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย — มาเลเซีย — ไทย (IMT - GT) ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 และในการประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 18 — 20 มิถุนายน 2540 ณ เมืองล็อกซูมาเลย์ จังหวัดอาเซย์ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซียได้เสนอเปิดด่านบูกิตบูงอ (บูกิตบุหงา) ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านบูเก๊ะตา ตำบลโล๊ะจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส พร้อมกับการกำหนดจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก — ลก แห่งที่ 2 เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย โดยสะพานดังกล่าวได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว และเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2550 และมีการดำเนินการก่อสร้างด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จะสิ้นสุดสัญญาจ้างภายในวันที่ 21 เมษายน 2556 เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้าง ด่านศุลกากรบูเก๊ะตา สามารถเปิดดำเนินการให้บริการทางศุลกากรได้ จึงสมควรกำหนดเขตศุลกากรของด่านศุลกากรบูเก๊ะตา
3. รัฐบาลไทยดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 (มุกดาหาร — สะหวันนะเขต) เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และต่อมากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร — นครพนม — มุกดาหาร) ได้รับงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2553 ในการดำเนินการโครงการก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารที่ทำการด่านศุลกากรมุกดาหารแห่งใหม่พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึงเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับด่านพรมแดนมุกดาหาร (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2) ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณในการก่อสร้างบริเวณพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (CCA : COMMON CONTROL AREA) ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร ตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับบริเวณด่านพรมแดนมุกดาหาร (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 2) เช่นกัน จึงสมควรกำหนดเขตศุลกากรของด่านศุลกากรมุกดาหาร
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. กำหนดท่าหรือที่ เขตศุลกากร ลักษณะการที่ให้กระทำ ทางอนุมัติด่านพรมแดน ของด่านศุลกากรเชียงแสน
2. กำหนดท่าหรือที่ เขตศุลกากร ลักษณะการที่ให้กระทำ ทางอนุมัติด่านพรมแดน ของด่านศุลกากรบูเก๊ะตา
3. กำหนดท่าหรือที่ เขตศุลกากร ลักษณะการที่ให้กระทำ ทางอนุมัติด่านพรมแดน ของด่านศุลกากรมุกดาหาร
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 29 พฤษภาคม 2555--จบ--